ไม่อยากโดน ภาษีย้อนหลัง ต้องทำยังไง

By posted on December 3, 2023 11:41AM
ไม่อยากโดน ภาษีย้อนหลัง ต้องทำยังไง

เชื่อว่าคนทำธุรกิจทุก ๆ คน คงไม่อยากโดน “ภาษีย้อนหลัง” หรือโดนเรียกเก็บภาษีจากทางสรรพากรย้อนหลังหลายปีแน่นอน เพราะการจ่ายภาษีย้อนหลังนั้น จะมาพร้อมกับค่าปรับที่สูงตามเพดานภาษี โดยเฉพาะการถูกสันนิษฐานจากทางสรรพากรว่า เรามีการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีและไม่แสดงรายได้ หรือจ่ายภาษีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง โดยทาง SMEMOVE จะพาคุณมาเจาะลึกเรื่องภาษีให้ละเอียด รวมถึงไขข้อข้องใจว่าภาษีคิดย้อนหลังได้กี่ปี พร้อมแนวทางการเตรียมตัว เพื่อไม่ให้เสี่ยงโดนภาษีย้อนหลัง

ภาษีย้อนหลัง คืออะไร?

ภาษีย้อนหลัง หรือ การเก็บภาษีย้อนหลัง (Retroactive Tax หรือ Back Taxes) คือ การเรียกเก็บภาษีหลังจากที่มีการตรวจสอบ เพื่อป้องกันและปราบปรามทางภาษีอากร โดยการตรวจสอบดังกล่าวนี้ จะดำเนินงานภายใต้ 3 หน่วยงาน คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคนที่โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง มักจะเป็นบุคคลธรรมดา ที่ไม่ได้มีการยื่นหรือว่าแสดงรายได้อย่างชัดเจน หรืออาจจะไม่ครบถ้วนตามความเป็นจริงนั่นเอง

ภาษีย้อนหลัง คืออะไร?

เพราะเหตุใดถึงต้องโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง?

สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนั้น มี 2 สาเหตุใหญ่ ๆ นั่นก็คือ การหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ไม่แสดงรายได้ และอีกเหตุผลหนึ่งคือ การจ่ายภาษีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งการโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง มีทั้งบุคคลธรรมดาและเจ้าของกิจการที่อาจจะยื่นภาษีไม่ครบถ้วน และไม่ชำระภาษีให้ถูกต้องตามประเภทของภาษี ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำที่ผิดปกติหรือว่างบการเงินไม่ถูกต้อง ก็จะนำไปสู่การตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั่นเอง

ขั้นตอนการตรวจสอบ ภาษีย้อนหลัง ของกรมสรรพากร

  • ยึดตามเอกสาร หรือใบ 50 ทวิ ที่ทางบริษัทส่งให้กับทางกรมสรรพากร
  • มีรายการโอนเงินเข้าบัญชีจำนวนมากกว่า 3,000 ครั้ง/ปี โดยไม่ดูจำนวนเงิน
  • หรือมีเงินเข้าบัญชี 400 ครั้ง/ปี โดยมีจำนวนเงินฝั่งรับเข้ารวมกันมากกว่า 2 ล้านบาท
  • การใช้บัตรเครดิต ที่แสดงข้อมูลด้านการทำธุรกรรมต่าง ๆ
  • การใช้ระบบ Big Data & Data Analytics
  • การตรวจสอบผ่านเมนูหรือการแจ้งเบาะแสผ่านทาง www.rd.go.th
  • การดึงข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมถึง Web Scraping

หมายเหตุ : ในกรณีที่ธนาคารหรือผู้ให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ส่งข้อมูลทางการเงินให้กับสรรพากร จะเรียกว่า “ธุรกรรมลักษณะเฉพาะ” นอกจากนี้ ยังมีการสุ่มตรวจตามกิจการต่าง ๆ ของทางกรมสรรพากรด้วย เช่น ร้านอาหาร ที่ทางกรมสรรพากรจะลงพื้นที่ด้วยตัวเอง แล้วนำข้อมูลมาใช้คำนวณรายได้ในแต่ละวันของกิจการ เป็นต้น

ทำยังไงถึงจะไม่โดนภาษีย้อนหลัง?

ทำยังไงถึงจะไม่โดนภาษีย้อนหลัง?

ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล สิ่งที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมคือ การทำความเข้าใจกับภาษีแต่ละชนิด แล้วเตรียมเอกสารหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุม เพื่อให้นำไปคำนวณอัตราภาษีและยื่นภาษีอย่างถูกต้อง ซึ่งแนวทางป้องกันไม่ให้โดยเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนั่นก็คือ

1. ทำความเข้าใจภาษีแต่ละชนิดให้ละเอียด

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคลฯ โดยจะคิดจากกำไรของผลประกอบการประจำปี
  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เช่น ค่าจ้าง ค่าเช่า ค่าบริการ ฯลฯ
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT โดยทุกธุรกิจจะต้องมีการยื่นรายงานภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน
  • อากรแสตมป์ หรือก็คือภาษีที่ต้องชำระเมื่อมีการทำสัญญาใด ๆ ก็ตาม อาทิ สัญญาเช่า
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือภาษีสำหรับธุรกิจบางประเภท ที่จะมีอัตราภาษีที่ต่างกันออกไป

2. ชำระภาษีให้ถูกต้อง และครบถ้วนทุกรายการ

หากไม่อยากเผชิญกับการโดน ภาษีย้อนหลัง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล สิ่งที่ต้องทำก็คือ การชำระภาษีให้ครบถ้วนและถูกต้องตามการประกอบกิจการ หรือการทำธุรกิจใด ๆ ก็ตาม เช่น หากเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือ YouTuber ต้องเตรียมความพร้อมทั้งรายการเดินบัญชี (Statement) และรายการใบสั่งซื้อสินค้าต่าง ๆ หรืออาจจะใช้ใบบันทึกที่ทำไว้เองก็ได้ (สำหรับการหักค่าใช้จ่ายจริง) โดยการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมี 2 ระยะ คือ

  • ระยะที่ 1 คือ การยื่นเฉพาะเงินได้ประเภทที่ 5 – 8 (วันที่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. ของปีภาษี) ด้วยการยื่นแบบ ภ.ง.ด.94
  • ระยะที่ 2 หรือก็คือภาษีสิ้นปี จะเป็นการยื่นแบบแสดงรายการสำหรับเงินได้ตลอดปีภาษี ด้วยการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90

3. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาทางออกและการยื่นภาษีอย่างถูกต้อง

ในบางครั้งเรื่องภาษีอาจจะดูยุ่งยากและมีรายละเอียดต่าง ๆ ที่ซับซ้อน เพราะฉะนั้น อาจจะเลือกหาทางออกด้วยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชีโดยตรง หรือสรรพากรเขตพื้นที่ที่ธุรกิจจัดตั้งอยู่ เพราะโดนปกติแล้วทางกรมสรรพากรจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือว่าการออกกฎหมายใหม่ ๆ เสมอ ดังนั้น จึงต้องศึกษากฎและระเบียบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เข้าใจและลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น การโดนเรียกเก็บ ภาษีย้อนหลัง เนื่องจากยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนและถูกต้อง เป็นต้น

ภาษีย้อนหลัง คิดยังไง แล้วมีค่าปรับเท่าไหร่บ้าง?

ภาษีย้อนหลัง คิดยังไง แล้วมีค่าปรับเท่าไหร่บ้าง?

โดยปกติแล้วหากโดน ภาษีย้อนหลัง จะคิดย้อนหลังได้ 2 ปี แต่หากพบความผิดปกติ และเข้าข่ายว่าตั้งใจหรือลบเลี่ยงการเสียภาษี ทางกรมสรรพากรจะมีสิทธิตรวจสอบย้อนหลังได้ถึง 5 ปี ซึ่งผู้ที่เคยเสียภาษีอยู่แล้ว เช่น มนุษย์เงินเดือน ทางสรรพากรมีสิทธิตรวจสอบย้อนหลังได้นานสูงสุดถึง 10 ปี ทั้งยังมีสิทธิเรียกดูรายการเดินบัญชี (Statement) ได้ด้วย

1. การยื่นแบบภาษีทันกำหนด แต่ชำระหรือจ่ายภาษีไม่ครบ

  • หากยื่นแบบทันแต่ชำระไม่ครบ ต้องชำระค่าปรับภาษีย้อนหลัง 0.5 – 1 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย
  • เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด ให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ

2. หลีกเลี่ยงหรือไม่ได้ยื่นแบบภายในระยะเวลาที่กำหนด

  • มีโทษปรับทางอาญาสูงสุดอยู่ที่ 2,000 บาท
  • เสียค่าปรับหรือเบี้ยปรับจากภาษีย้อนหลัง 1 – 2 เท่า จากภาษีที่ต้องจ่าย
  • เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด ให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ

3. เจตนาละเลย ไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด เพื่อเลี่ยงภาษี

  • มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 200,000 บาท หรือจำคุก 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • เสียเบี้ยปรับภาษีย้อนหลัง 2 เท่า จากอัตราภาษีที่ต้องจ่าย
  • เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด ให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ

4. ตั้งใจหรือจงใจหนีภาษี

  • มีโทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาท หรือจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี
  • เสียค่าปรับภาษีย้อนหลัง 2 เท่า จากอัตราภาษีที่ต้องจ่าย
  • เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน ของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด ให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ

ภาษีย้อนหลัง

จะเห็นได้เลยว่า การโดนเรียกเก็บ ภาษีย้อนหลัง หรือการสุ่มตรวจของทางกรมสรรพากรนั้น มีหลากหลายวิธีเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ หากคุณเข้าร่วมโครงการของรัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน ฯลฯ ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่ทางสรรพากรใช้ตรวจสอบ และนำมาคำนวณภาษีย้อนหลังได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น หากไม่อยากโดนภาษีย้อนหลัง ก็ควรเตรียมตัวให้พร้อมและยื่นแบบแสดงรายได้ให้ครบถ้วน ทั้งนี้ หากมียอดเงินเข้าเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็เข้าเกณฑ์การจดทะเบียน VAT ด้วย ซึ่งครอบคลุมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล

ทั้งนี้ บุคคลใดที่ไม่อยากยุ่งยากเรื่องการทำ เอกสารทางธุรกิจ สามารถเลือกใช้ โปรแกรมบัญชีออนไลน์ SMEMOVE เป็นตัวช่วยในการทำบัญชี เพื่อนำเอกสารต่าง ๆ ไปใช้ประกอบการยื่นภาษี ด้วยการบันทึกเป็นไฟล์ดิจิตอลที่สะดวกต่อการใช้งาน พร้อมจัดเก็บบน Google Cloud ที่จะช่วยลดปัญหาเรื่องเอกสารหายได้

ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE

คู่มือการใช้งาน : HELP

ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่

บทความบัญชี: smemove.com/blog

Facebook: Facebook.com/smemove.th

Youtube: SMEMOVE