ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 438) ได้มีการกำหนดแบบแสดงรายการเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ประกาศลงวันที่ 21 กันยายน 2566 ล่าสุดนั้น ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า ให้ยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หรือ ภ.ง.ด. ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ โดยให้นายจ้างยื่นแบบผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อฝากไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น โดยจะเริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการพร้อมกันในเดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป
เปลี่ยนการยื่น ภ.ง.ด. ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ ทางออนไลน์
โดยนายวินิจ วิเศษสุวรรรภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ได้เปิดเผยว่า ในปัจจุบันการยื่นแบบรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 40 (1) (2) ที่ได้กำหนดให้นายจ้างต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ยื่นแบบและนำส่งภาษี ซึ่งในนายจ้างที่ยื่นแบบผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็น ระบบ e-Filing, e-Withholding Tax หรือแม้แต่สื่อฝากไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ในปัจจุบันมีสัดส่วนทั้งหมด 98%
เพราะฉะนั้น ทางกรมสรรพากรจึงได้มีการกำหนดอย่างเป็นทางการว่า ในการยื่นแบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ จะต้องดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือการยื่นผ่านทางออนไลน์เท่านั้น แต่หากนายจ้างไม่สามารถยื่นแบบฯ ผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ตามที่กำหนด จะต้องยื่นแบบแสดงรายการในรูปแบบกระดาษเช่นเดิม แต่ต้องแนบหนังสือถึงกรมสรรพากร เพื่อระบุเหตุผลและความจำเป็นที่ไม่สามารถยื่นแบบรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะต้องยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามสถานที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่
ข้อดีของการยื่นแบบรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผ่านทางออนไลน์
โดยข้อดีของการยื่น ภ.ง.ด. ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ ผ่านทางออนไลน์ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการตรวจสอบข้อมูลรายได้ของบุคคลธรรมดา ผ่านระบบ My Tax Account ได้อย่างง่ายดาย ซึ่งก็จะใช้ประกอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90/91 ในปีถัดไปเช่นกัน นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันการทุจริตและขอคืนเงินภาษี ตลอดจนการสร้างรายจ่ายเท็จในภาคธุรกิจได้ด้วย
ซึ่งก็นับว่าเป็นการลดทอนปัญหาเดิม ๆ ได้มากขึ้น ทั้งต่อตัวผู้ประกอบการเองที่ไม่ต้องเดินทางไปยื่นแบบกระดาษที่สำนักงานสรรพกรในพื้นที่ และลูกจ้างที่สามารถตรวจสอบข้อมูลรายได้ผ่านทางออนไลน์ได้อย่าง่ายดาย ก่อนถึงเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั่นเอง
ใครมีหน้าที่ในการยื่นแบบภาษีแสดงเงินได้หัก ณ ที่จ่าย?
ในการยื่นแบบภาษีแสดงเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หรือ ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.1ก ได้แก่ บุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล ที่มีการจ่ายรายได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1)(2) ให้แก่บุคคลธรรมดา โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเจาของธุรกิจ ที่ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นนิติบุคคลเท่านั้น เรียกง่าย ๆ หากมีการจ้างงานก็ต้องทำเอกสารทั้ง 2 รายการนี้
อย่างเช่น ฟรีแลนซ์ที่มีการจ้างลูกน้องหรือคนในทีมให้มาทำงานให้หรือแม้แต่เจ้าของธุรกิจคนเดียว ที่มีการว่าจ้างพนักงานให้มาทำงานและรับเงินเดือน ซึ่งพนักงานที่ถูกจ้างมีเงินเดือนถึงฐานที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นต้น โดยการยื่นแบบก็จะมีวิธีการยื่นที่ต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับประเภทของภาษีเงินได้นั่นเอง
ทำความรู้จัก ภ.ง.ด. ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ ให้มากขึ้น!
ภ.ง.ด. เรียกง่าย ๆ “ภาษีเงินได้” โดยก็มีหลายประเภท ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีความแตกต่างถึงการยื่นแบบฯ เช่นกัน แต่การยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือการยื่นภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย จะทำให้ทางสรรพากรรู้ว่า ในบริษัทหรือองค์กรนั้น ๆ มีพนักงานกี่คน แล้วแต่ละคนมีรายได้เท่าไหร่บ้าง ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ โดยการยื่นแบบฯ ก็จะมีความแตกต่างทั้งในส่วนของรายละเอียดปลีกย่อย และช่วงเวลาในการนำส่งที่ต่างกันออกไป
- ภ.ง.ด.1 หมายถึง แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินตามาตรา 40(1) และ 40(2) โดย ภ.ง.ด.1 จะใช้สำหรับพนักงานที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้วเท่านั้น จะต้องนำส่งภาษีทุกวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
- ภ.ง.ด.1ก หมายถึง แบบยื่นรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 58(2) ใช้สำหรับการแสดงรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ (2) จะเรียกง่าย ๆ เป็นใบสรุปการจ่ายเงินเดือน และเงินอื่น ๆ ของพนักงานแบบรายปี โดยบริษัทจะต้องนำส่งให้กับทางกรมสรรพากรปีละ 1 ครั้ง และต้องส่งภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป ซึ่งไม่ว่าพนักงานทุกคนจะมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ ก็ต้องยื่นแบบดังกล่าวนี้ทั้งหมด
- ภ.ง.ด.1ก พิเศษ หมายถึง แบบรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 58(1) สำหรับการแสดงการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)(2) กรณีที่มีการตั้งฎีกา เบิกเงิน เฉพาะข้าราชการและลูกจ้างของส่วนราชการ โดยการยื่นแบ ภ.ง.ด.1ก พิเศษ จะใช้สำหรับการแสดงการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) โดยจะต้องดำเนินการยื่นภายในเดือนมกราคมของปีถัดไป แต่ในการยื่นแบบฯ มาตรา 40(1) จะต้องยื่นภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป
การยื่นแบบ ภ.ง.ด. ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ บังคับใช้วันไหน?
ในการยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย แบบออนไลน์ หรือ ภ.ง.ด. ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ ทางออนไลน์ ตามที่ทางกรมสรรพากรกำหนดให้ใช้อย่างเป็นทางการนั้น จะเริ่มต้นใช้สำหรับการจ่ายเงินได้ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป เพื่อยกระดับการบริการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ดียิ่งขึ้น โดยสามารถยื่นได้ทั้งผ่านทาง e-Filing, e-Withholding Tax และสื่อฝากไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม จากประกาศของทางกรมสรรพากร เรื่องการยื่นแบบรายการแสดงภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือการยื่นแบบฯ ภ.ง.ด. ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ นั้น ก็เพื่อให้นายจ้างได้เตรียมตัวสำหรับการยื่นภาษีหัก ณ ที่จ่าย แบบออนไลน์ ในปีถัดไป และเพื่อทำให้ทางกรมสรรพากรได้เข้าสู่ระบบภาษีอากร ที่เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการท่านใดที่อยากจัดการระบบบัญชีและเอกสารทางธุรกิจให้สะดวกมากขึ้น อย่าลืมมาใช้โปรแกรมบัญชีออนไลน์ SMEMOVE ที่จะช่วยให้การบริหารจัดการและการทำเอกสารถูกต้องตามมาตรฐาน
ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE
คู่มือการใช้งาน : HELP
ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่
บทความบัญชี: smemove.com/blog
Facebook: Facebook.com/smemove.th
Youtube: SMEMOVE