การเริ่มต้นทำธุรกิจนั้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านค้า ทำธุรกิจขนาดเล็ก หรือเป็นธุรกิจ SMEs สิ่งที่เจ้าของกิจการต้องรู้คือ การจดทะเบียนทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะการจดทะเบียนพาณิชย์ ที่จะแตกต่างจากการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และการจดทะเบียนบริษัท เพราะฉะนั้น ทาง SMEMOVE จะพามาทำความรู้จักกันว่า การจดทะเบียนพาณิชย์ คืออะไร ต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง มีเอกสารอะไรบ้างที่ต้องเตรียม แล้วธุรกิจประเภทไหนที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ให้เรียบร้อย
จดทะเบียนพาณิชย์ คืออะไร?
การจดทะเบียนพาณิชย์ คือ การจดทะเบียนเพื่อยืนยันว่าเรากำลังดำเนินธุรกิจ และทำการค้าขาย ให้บริการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยการจดทะเบียนพาณิชย์ จะทำให้รู้ว่า เรากำลังขายอะไรอยู่ ใช้ชื่อร้านว่าอะไร ที่ตั้งอยู่ไหน ฯลฯ โดยตามกฎหมายแล้วจะกำหนดอย่างชัดเจนว่า ธุรกิจประเภทใดต้องจดทะเบียนพาณิชย์ และธุรกิจไหนที่ได้รับการยกเว้น
ธุรกิจที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
การจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับบุคคลธรรมดา
- ผู้ประกอบกิจการโรงสีข้าวและโรงเลื่อยที่ใช้เครื่องจักร
- ผู้ประกอบกิจการขายสินค้าไม่ว่าอย่างใดๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่าง คิดรวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งขายได้เป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือมีสินค้าดังกล่าวไว้เพื่อขายมีค่ารวมทั้งสิ้นเป็นเงินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
- นายหน้าหรือตัวแทนค้าต่างซึ่งทำการเกี่ยวกับสินค้าไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม และสินค้านั้นมีค่ารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป
- ผู้ประกอบกิจการหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมไม่ว่าอย่างใด ๆ อย่างเดียวหรือหลายอย่างก็ตาม และขายสินค้าที่ผลิตได้ คิดราคารวมทั้งสิ้นในวันหนึ่งวันใดเป็นเงินตั้งแต่ 20 บาทขึ้นไป หรือในวันหนึ่งวันใดมีสินค้าที่ผลิตได้มีราคารวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป
- ผู้ประกอบกิจการขนส่งทางทะเล การขนส่งโดยเรือกลไฟหรือเรือยนต์ประจำทาง การขนส่งโดยรถไฟ การขนส่งโดยรถราง การขนส่งโดยรถยนต์ประจำทาง การขายทอดตลาด การรับซื้อขายที่ดิน การให้กู้ยืมเงิน การรับแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การซื้อหรือขายตั๋วเงิน การธนาคาร การโพยก๊วน การทำโรงรับ จำนำ และการทำโรงแรม
- ขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดีทัศน์ แผ่นวีดีทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดีทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
- ขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี
- ขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
- บริการอินเทอร์เน็ต
- ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
- บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
- การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเทอร์เน็ต
- การให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
- การให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
- การให้บริการตู้เพลง
- โรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีก การค้าส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง
การจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับนิติบุคคล
- ขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดีทัศน์ แผ่นวีดีทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดีทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง
- ขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี
- ซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครื่องข่ายอินเทอร์เน็ต
- บริการอินเทอร์เน็ต
- ให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย
- บริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
- การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเทอร์เน็ต
- การให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ
- ให้บริการเครื่องเล่นเกมส์
- การให้บริการตู้เพลง
- โรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีกการค้าส่งงาช้าง และผลิตภัณฑ์จากงาช้าง
เรียกง่าย ๆ ว่า การจดทะเบียนพาณิชย์ครอบคลุมหลายธุรกิจ ยกเว้น หาบเร่แผงลอย พาณิชยกิจเพื่อการกุศลหรือบำรุงศาสนา ธุรกิจกลุ่มเกษตรกรรม หรือทำมูลนิธิสมาคม ส่วนธุรกิจที่เราเห็นได้บ่อยที่สุดในการจดทะเบียนพาณิชย์ คือ ร้านโชห่วย ร้านขายของชำ หรือร้านค้าปลีก ที่นิยมประกอบธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา
เงื่อนไขการจดทะเบียนพาณิชย์
สำหรับการจดทะเบียนพาณิชย์นั้น เจ้าของธุรกิจทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ดำเนินกิจการ หรือวันเริ่มประกอบพาณิชยกิจ (ไม่กำหนดว่าต้องมีรายได้เท่าไหร่ เพราะนับจากวันที่เริ่มดำเนินกิจการเท่านั้น)
และสำหรับผู้ประกอบการที่หลีกเลี่ยงการจดทะเบียนพาณิชย์ หรือไม่ดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ให้เรียบร้อยตามที่กฎหมายกำหนด จะมีความผิดตามกฎหมาย ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 100 บาท จะกว่าจะดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้อง
หมายเหตุ : นอกจากการดำเนินการยื่นจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว ผู้ประกอบจะต้องดำเนินการยื่นภาษีให้ถูกต้อง และเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วก็จะทราบว่าต้องเสียภาษีในอัตราเท่าไหร่ โดยจะคิดภาษีตามอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ 5 – 35%
ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ไหนบ้าง?
ที่ตั้งอยู่กรุงเทพ สามารถดำเนินการได้ที่สำนักงานเขตที่ตั้งอยู่ หรือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กทม.
ที่ตั้งอยู่ต่างจังหวัด สามารถดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่เทศบาล หรือองค์การบริการส่วนตำบลที่ตั้งอยู่
การจดทะเบียนพาณิชย์ มีกี่ประเภท?
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในปัจจุบันนี้มีการประกอบธุรกิจในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เพราะฉะนั้น การจดทะเบียนพาณิชย์จึงมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพื่อให้ครอบคลุมกับธุรกิจในปัจจุบันมากขึ้น คือ
1. ทะเบียนพาณิชย์
เป็นการจดทะเบียนร้านค้าสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่มีการประกอบธุรกิจการค้าขายทุกประเภท และมีหน้าที่ร้านหรือที่ตั้งอย่างชัดเจน เน้นการค้าขายแบบง่าย ไม่ซับซ้อน เช่น เปิดร้านขายของชำ ทำร้านโชห่วย ร้านขายปลีก ฯลฯ
2. ทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
เป็นการจดทะเบียนพาณิชย์ออนไลน์ สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่ดำเนินธุรกิจหรือค้าขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และมีร้านเป็นของตัวเอง โดยรวมถึงการรับชำระเงินในรูปแบบออนไลน์ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น หากมีการขายสินค้าผ่านทาง Shopee หรือ Lazada ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ขั้นตอนการจดทะเบียนพาณิชย์ และเอกสารที่ต้องใช้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของธุรกิจ
- แบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ หรือ แบบ ทพ.
- แผนที่ตั้งแสดงสถานที่ตั้งร้าน
- หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ หรือสัญญาเช้า (กรณีไม่ใช่เจ้าของสถานที่)
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของกรรมสิทธิ์ (กรณีเช่า)
- สำเนาหนังสืออนุญาต หรือหนังสือรับรองให้เป็นผู้จำหน่ายจากเจ้าของลิขสิทธิ์ (สำหรับธุรกิจที่ขายสินค้ามีลิขสิทธิ์
- หลักฐานแสดงจำนวนเงินทุน (ยกเว้นนิติบุคคล) กรณีที่ทำธุรกิจขายอัญมณีหรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณี
- หากเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินการยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ จะต้องมีหนังสือรับรองบริษัทด้วย
ทั้งนี้ หากเป็นการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้ดำเนินการเหมือนกับการจดทะเบียนพาณิชย์ปกติ แต่ต้องมีเอกสารประกอบการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ พร้อมพิมพ์หน้าแรกของร้านค้าออนไลน์ รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์นั้น ๆ อาทิ การชำระเงิน การสั่งซื้อ การจัดส่งสินค้า ฯลฯ
บันทึกรายรับ – จ่าย ให้ง่ายยิ่งขึ้น ด้วยโปรแกรมบัญชี SMEMOVE
สำหรับเจ้าของธุรกิจที่เริ่มต้นประกอบกิจการ และดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต้องการจัดการข้อมูลบันทึกบัญชี พร้อมบันทึกรายรับ – จ่าย ให้ง่ายและเป็นระบบมากขึ้น เพียงทดลองใช้โปรแกรมบัญชีออนไลน์ SMEMOVE วันนี้ ก็สามารถใช้ฟังก์ชันดีดีได้อย่างครอบคลุม ที่สำคัญ เรามีบริการระบบ POS ที่จะช่วยทำให้ทุกการขายมีระบบและง่ายต่อการดูแลธุรกิจมากยิ่งขึ้น
ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE
คู่มือการใช้งาน : HELP
ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่
บทความบัญชี: smemove.com/blog
Facebook: Facebook.com/smemove.th
Youtube: SMEMOVE