ค่าใช้จ่ายต้องห้าม คืออะไร? แล้วมีรายการไหนบ้าง ที่ต้องระวังในการทำธุรกิจ

By posted on November 20, 2024 2:22PM
ค่าใช้จ่ายต้องห้าม คืออะไร? แล้วมีรายการไหนบ้าง ที่ต้องระวังในการทำธุรกิจ

ในการบันทึกบัญชีเพื่อใช้ประกอบการยื่นภาษี “ค่าใช้จ่ายต้องห้าม” หรือ “รายจ่ายต้องห้าม” นับว่ามีผลกระทบต่อการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะค่าใช้จ่ายบางอย่างก็ถือเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามทางภาษี และส่งผลกระทบต่อกำไรทางภาษีอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น เราจะพาคุณมาทำความเข้าใจกับค่าใช้จ่ายต้องห้ามให้มากขึ้น ว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้คืออะไร แล้วมีอะไรบ้าง ที่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามทางภาษี

ค่าใช้จ่ายต้องห้าม คืออะไร?

คำว่า “ค่าใช้จ่ายต้องห้าม” เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “รายจ่ายต้องห้าม” (Expenses Not Deductible) คือ รายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการของนิติบุคคล และมีการบันทึกบัญชีเพื่อเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายการ แต่ในทางภาษีนั้น ไม่ได้ถือว่าเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ

โดยตามประกาศของกรมสรรพากรก็ได้ระบุเงื่อนไขการคำนวณกำไรสิทธิตามมาตรา 65 ตรี เอาไว้ถึงขอบเขตรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเอาไว้ตามประมวลรัษฎากรเช่นกัน ว่ามีรายการไหนบ้างที่ถือว่าเป็นรายจ่ายต้องห้าม

ค่าใช้จ่ายต้องห้าม คืออะไร

ค่าใช้จ่ายต้องห้าม มีอะไรบ้าง?

รายจ่ายต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี ได้กำหนดประเภทของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เอาไว้หลายแบบ ซึ่งทาง SMEMOVE จะยกมาเฉพาะ 8 กลุ่มหลัก ๆ ที่พบเห็นได้บ่อย ดังนี้

1. รายจ่ายส่วนตัวของผู้บริหาร ที่อยู่นอกระเบียบบริษัท

ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำมัน เงินที่ให้โดยเสน่หา หรือแม้แต่การทำบุญ ฯลฯ เพราะรายจ่ายในลักษณะนี้จะไม่มีระเบียบชัดเจน ไม่สามารถนำไปหักภาษีได้ เว้นแต่ว่าการกุศลนั้นจะเป็นการทำเพื่อกุศลสาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์ของสาธารณะชนทั่ว ๆ ไป โดยไม่จำกัดหรือระบุอย่างเจาะจงว่าเป็นใคร ซึ่งเราจะเห็นได้บ่อยครั้งจากข่าวการทำบุญหรือบริจาคเงินเป็นกุศลในโอกาสต่าง ๆ ของบริษัทในเมืองไทย

2. รายจ่ายเพื่อรับรองลูกค้าที่เกินโควตา

โดยปกติแล้วค่ารับรองจะมีหลักเกณฑ์กำหนดอย่างชัดเจน ว่ากรณีไหนบ้างที่สามารถนำไปคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายได้ ซึ่งตามเกณฑ์แล้วจะต้องเป็นไปตามธรรมเนียมทางประเพณีทางธุรกิจทั่วไป หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการรับรองโดยตรง รวมถึงเป็นค่าสิ่งของแก่บุคคล (ไม่เกินคนละ 2,000 บาท) ซึ่งสามารถนำไปเป็นรายจ่ายได้ แต่ต้องไม่เกิน 0.3% สูงสุด 10 ล้านบาท (ต้องมีหลักฐานประกอบอย่างชัดเจน ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกจัดว่าอยู่ในกลุ่มค่าใช้จ่ายต้องห้ามได้)

ค่าใช้จ่ายต้องห้าม มีอะไรบ้าง

3. รายจ่ายที่ไม่มีผู้รับอย่างชัดเจน

เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นรายจ่ายที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นการจ่ายเงินให้ใคร ซึ่งมักจะพบในกลุ่มธุรกิจ SMEs หรือผู้ประกอบการรายย่อย ที่บางครั้งก็จะมีค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในองค์กร ซึ่งหากไม่มีหลักฐานทางการเงิน เช่น ใบเสร็จรับเงิน ก็จะไม่สามารถนำไปหักภาษีได้นั่นเอง

4. รายจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม

หรือก็คือการจ่ายสินค้าหรือบริการที่มี VAT 7% ที่บริษัทจะไม่สามารถเอาส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ไปคิดเป็น “รายจ่าย” เมื่อต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งรวมไปถึงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระหรือพึงชำระ และภาษีซื้อขอบริษัทด้วยเช่นกัน ยกเว้นภาษีซื้อที่เกิดขึ้นนั้นเป็นค่ารับรอง หรือเป็นภาษีซื้อจากการเช่า/เช่าซื้อ หรือโอนรถยนต์นั่ง รวมถึงภาษีซื้อตามใบกำกับภาษี เป็นต้น (รายละเอียดเพิ่มเติม อ่านได้ประกาศจากกรมสรรพากร)

5. รายจ่ายให้กับบริษัทแม่ หรือบริษัทลูก

ไม่ว่าจะเป็นรายจ่ายที่จ่ายให้กับบริษัทแม่หรือว่าบริษัทลูก ในทางภาษีนั้นจะถือว่าเป็นบริษัทเดียวกัน การซื้อสินค้าหรือบริการจากอีกบริษัทก็ยังคงเป็นเงินไหลเวียนในบริษัทเช่นเดิม จึงไม่นับว่าเป็นรายจ่ายทางภาษี

6. รายจ่ายค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง

แน่นอนว่า หลาย ๆ บริษัทนั้น จะมีทรัพย์สินที่มาในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องมีการประเมินมูลค่าของทรัพย์สินนั้น ๆ อยู่เสมอ แต่ในแง่ของภาษีไม่ว่าจะมีมูลค่าเพิ่มหรือลดลง ก็จะยังถือว่าไม่ใช่รายจ่ายทางภาษี เพราะในปัจจุบันไม่มีการประเมินมูลค่าด้วยหลักการทางภาษีนั่นเอง

7. รายจ่ายทรัพยากรธรรมชาติที่เสียไป

หากธุรกิจใดก็ตามที่ดำเนินธุรกิจที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวข้อง ในทางภาษีนั้นจะไม่สามารถนำมาคิดเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ เพราะว่าไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจนในการประเมินมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป (คล้าย ๆ กันกับอสังหาริมทรัพย์) แต่ในแง่ของธุรกิจก็ยังคงต้องบันทึกบัญชีค่าใช้จ่ายดังกล่าวเช่นเดิม

8. รายจ่ายค่าปรับ

อีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่สำคัญมาก ๆ ของธุรกิจก็คือ รายจ่ายค่าปรับ ที่ก็ไม่สามารถนำมาคิดเป็นรายจ่ายทางภาษีได้เช่นกัน โดยค่าปรับดังกล่าวสามารถครอบคลุมได้หลายแบบ เช่น บริษัทที่ทำผิดกฎหมายแล้วต้องเสียค่าปรับ ในส่วนนี้จะยังคงอยู่ในขั้นตอนของการบันทึกบัญชีเช่นเดิม แต่จะไม่ถือว่าเป็นรายจ่ายทางภาษี เพราะสรรพากรเองก็มองว่าธุรกิจทำผิดกฎหมายเอง แล้วก็ได้รับการลงโทษโดยทางภาครัฐ จะนำมาเป็นรายจ่ายทางภาษีไม่ได้

นอกจาก 8 กลุ่มดังกล่าวมานี้ ที่ถือว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามแล้ว ก็ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ถูกจัดว่าเป็นรายจ่ายต้องห้ามทางภาษีเช่นกัน อาทิ เงินสำรอง, รายจ่ายที่กำหนดขึ้นมาแต่ไม่มีการจ่ายจริง, เงินที่จ่ายเข้ากองทุนต่าง ๆ (ยกเว้นการสมทบเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ), ดอกเบี้ยที่คิดให้สำหรับเงินทุนหรือเงินสำรอง, รายจ่ายที่ไม่ใช่รายจ่ายเพื่อกิจการในประเทศไทย, การจ่ายเงินที่ไม่ใช่การจ่ายเพื่อหากำไรให้กับบริษัท ฯลฯ

วิธีคิดค่าใช้จ่ายต้องห้ามบวกกลับ ก่อนเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

วิธีคิดค่าใช้จ่ายต้องห้ามบวกกลับ ก่อนเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

เมื่อบริษัทประเมินแล้วว่า ในรอบบัญชีนั้นมีค่าใช้จ่ายต้องห้ามเกิดขึ้น ลำดับต่อมา จะต้องมาดูว่ารายการใดบ้างที่จัดว่าเป็นรายจ่ายต้องห้าม แล้วรายการไหนที่สามารถนำไปใช้เป็นรายจ่ายทางภาษีได้จริง เช่น กำไรสุทธิของบริษัท A คือ 300,000 บาท จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 20 คิดได้ดังนี้

  • บริษัทต้องเสียภาษี 300,000 x 20% = 60,000 บาท
  • มีค่าใช้จ่ายต้องห้ามบวกกลับ ตามมาตรา 65 ตรี อยู่ที่ 100,000 บาท
  • นำรายได้สิทธิมาบวกกับรายจ่ายต้องห้ามบวกกลับ 300,000 + 100,000 = 400,000 บาท
  • ดังนั้น บริษัท A จะต้องคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ 400,000 x 20% = 80,000 บาท

ทั้งนี้ การคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล หากมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5,000,000 บาท และมีการขายสินค้าและบริการในรอบบัญชีไม่เกิน 30,000,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555 เป็นต้นมา ในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มตั้งแต่ปี 2558 จะมีการคิดอัตราภาษีที่ต่างกัน ดังนี้

  • กำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี
  • 300,000 – 3,000,000 บาท จะต้องชำระภาษีร้อยละ 15
  • มีกำไรสุทธิเกิน 3,000,000 บาท จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 20

ในกรณีที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ใช่บริษัท หรือห้างหุ่นส่วนนิติบุคคลที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าวข้างต้น ในรอบบัญชีนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 จะต้องคำนวณภาษีในอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ เรียกง่าย ๆ ว่า หากไม่ใช่กิจการกลุ่ม SMEs จะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 20 ทั้งหมด และไม่ได้รับการยกเว้นภาษีนั่นเอง

การคิด ค่าใช้จ่ายต้องห้าม บวกกลับ

ตอบโจทย์คนทำ SMEs ด้วยโปรแกรมบัญชีออนไลน์ SMEMOVE

จะเห็นได้เลยว่า ค่าใช้จ่ายต้องห้าม หรือ รายจ่ายต้องห้าม มีผลอย่างมากในด้านภาษี เพราะฉะนั้น ผู้จัดทำบัญชีจะต้องทำความเข้าใจกับรายจ่ายต่าง ๆ ให้ดี ว่ากลุ่มไหนถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม เพราะมีผลต่อการบวกกลับค่าใช้จ่ายดังกล่าวสำหรับการคำนวณภาษีตามรอบบัญชีเช่นกัน

และเพื่อให้การจัดการเรื่องเอกสารทางธุรกิจกลายเป็นเรื่องง่าย รวมถึงการบริหารและจัดการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ภายในองค์กรไม่ให้ยุ่งยาก เพียงเลือกใช้โปรแกรมบัญชีออนไลน์ by SMEMOVE ที่ออกแบบมาเพื่อคนธุรกิจมือใหม่โดยเฉพาะ ด้วยฟังก์ชันที่หลากหลาย ใช้งานง่าย มีเอกสารทางธุรกิจให้ใช้ครบทุกชนิด ที่สำคัญ มีระบบการจัดการพนักงาน หรือระบบ HR ภายในตัว ช่วยให้จัดบริหารงานได้ง่ายมากขึ้น!

ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE

คู่มือการใช้งาน : HELP

ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่

บทความบัญชี: smemove.com/blog

Facebook: Facebook.com/smemove.th

Youtube: SMEMOVE