ในบรรดารายการลดหย่อนภาษี ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice นับว่ามีบทบาทเป็นอย่างมากในการลดหย่อนภาษี 2567 นี้ (ใช้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาช่วงต้นปี 2568) เพราะนับว่าเป็นมาตรการ EASY E-Receipt ที่ทางกรมสรรพากรกำหนดให้ผู้ประกอบการจัดทำขึ้นมา เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการซื้อขายสินค้าและบริการต่าง ๆ โดยที่สามารถนำเอกสารดังกล่าวไปประกอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้นั่นเอง
e-Tax Invoice คืออะไร?
e-Tax Invoice เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งเป็นการออกใบกำกับภาษีในรูปแบบใหม่ที่กำหนดโดยทางกรมสรรพากร โดยหน้าที่ของ e-Tax Invoice มีหน้าที่เหมือนกับใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษที่เราคุ้นชินกัน เพียงแค่เปลี่ยนข้อมูลของใบกำกับภาษี ให้อยู่ในรูปแบบของอิเล็กทรอนิกส์แบบ 100% เท่านั้น
ซึ่งการใช้ e-Tax Invoice นั้น ส่งผลดีทั้งต่อผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ ร้านค้า รวมถึงผู้ใช้บริการ ที่ไม่ต้องเก็บเอกสารในรูปแบบของกระดาษ ไม่เสี่ยงสูญหาย สามารถเก็บข้อมูลใน e-mail เมื่อต้องการใช้ก็สามารถดาวน์โหลดได้ตลอดเวลา และที่สำคัญคือ ช่วยลดต้นทุนสำหรับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี ทั้งยังมีความสะดวกในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความรวดเร็วในการส่งข้อมูล
ลักษณะของ e-Tax Invoice ที่ควรรู้
- เป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์สกุล pdf, doc, docx, xls และ xlsw (แบบใดก็ได้)
- 1 ไฟล์ของ e-Tax Invoice จะต้องมีขนาดไม่เกิน 3 MB
- ข้อมูลที่ปรากฏต้องไม่ใช่รูปภาพ และต้องไม่ใช่การถ่ายภาพหรือแปลงไฟล์จากกระดาษให้เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การสแกนเอกสาร
- ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีหมายเลขใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) และลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature)
ประเภทของ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice
สำหรับการจำแนกประเภทของ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ สามารถแบ่งออกได้ 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ e-Tax Invoice by Email และ e-Tax Invoice & e-Receipt ซึ่งทั้งสองรูปแบบก็คือใบกำกับภาษีเหมือนกัน แต่ว่า e-Tax Invoice & e-Receipt จะมีความต่างกันในเรื่องการออกเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ครอบคลุมมากกว่า
1. e-Tax Invoice by Email
สำหรับ e-Tax Invoice by Email คือ การจัดทำใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะใช้เป็นไฟล์ PDF-A3 จะมีการลงลายมือชื่อด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมส่งผ่านระบบของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่า สพธอ. (ETDA) เพื่อใช้สำหรับการรองรับเวลา ซึ่งเอกสารที่ e-Tax Invoice by Email สามารถจัดทำได้ ครอบคลุม 3 รายการ คือ ใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ และใบลดหนี้
ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิ์ออก e-Tax Invoice by Email นั้น ต้องเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กิจการต้องมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท/ปี และต้องไม่เป็นผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติหรือว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติในการจัดทำ ส่งมอบ และเก็บรักษาในกำกับภาษีและใบรับอิเล็กทรอนิกส์ และที่สำคัญคือ ต้องไม่มีประวัติหรือพฤติการณ์หลีกเลี่ยงการเสียภาษี รวมถึงการออกใบกำกับภาษีปลอม
2. e-Tax Invoice & e-Receipt
สำหรับ e-Tax Invoice & e-Receipt นั้น จะมีความแตกต่างกันจาก e-Tax Invoice by Email คือ สามารถจัดทำได้ทั้ง ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ใบเสร็จรับเงิน โดยใบกำกับภาษีจะมีทั้งแบบเต็มรูปและอย่างย่ออ ทั้งนี้ การออก e-Tax Invoice & e-Receipt จะต้องการลงลายมือชื่อ และการประทับรับรองเวลา หรือที่เรียกว่า Time Stamp ด้วยระบบ e-Tax Invoice by Email
ทั้งนี้ ผู้ที่มีสิทธิ์ออก ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Tax Invoice และ e-Receipt จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือว่ามีหน้าที่ออกใบรับ มีใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ และที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการนั้น จะต้องมีระบบการจัดการที่ดี ตลอดจนมีวิธีการสร้าง ส่ง และการเก็บข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีความปลอดภัยสูง และต้องทำตามรูปแบบ XML อย่างชัดเจน
หมายเหตุ : ความแตกต่างที่ชัดเจนมาก ๆ ระหว่าง e-Tax Invoice by Email และ e-Tax Invoice & e-Receipt ก็คือ e-Tax Invoice by Email จะสามารถออกได้แค่ใบกำกับภาษี แต่ถ้าเป็น e-Tax Invoice & e-Receipt จะออกได้ทั้งใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีนั่นเอง
การจัดทำ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และการนำส่งสรรพากร
- ผู้ประกอบการจัดหาใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ จากผู้ให้บริการออกใบรับรอง (Certification Authority : CA)
- ทำการลงทะเบียนด้วยโปรแกรม Ultimate Sign & Viewer และเข้าใช้ระบบ
- จัดทำ e-Tax Invoice ให้กับทางผู้ใช้บริการ โดยต้องมีการลงลายมือชื่อดิจิทัลทุกครั้ง พร้อมทำการจัดเตรียมข้อมูลใบกำกับภาษีหรือใบรับในรูปแบบของโครงการ XML File ตามที่กำหนด
- นำส่งข้อมูลให้กับทางกรมสรรพากร สามารถเลือกได้ทั้งแบบ Host to Host หรือ Service Provider หรือว่าจะใช้วิธี Upload XML (Web Upload) ก็ได้
- ติดตามและตรวจสอบการนำส่งข้อมูลของ e-Tax Invoice ด้วยการใช้ระบบ Tracking
- เก็บรักษาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544
ใช้ e-Tax Invoice ลดหย่อนภาษีปี 2567
แน่นอนว่า ข้อดีของ e-Tax Invoice & e-Receipt นั้น ไม่ได้มีประโยชน์แค่กับผู้ประกอบการ หรือผู้ให้บริการเท่านั้น แต่ในส่วนของผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภค ก็ยังสามารถนำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ไปใช้ในการลดหย่อนภาษี ปี 2567 ได้เช่นกัน (ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2568) โดยโครงการดังกล่าวจะเรียกว่า “มาตรการ EASY E-Receipt” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการลดหย่อนภาษีที่ทางกรมสรรพากรกำหนดขึ้นมา เพื่อให้ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถนำ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 50,000 บาท
โดยมาตรการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 – 15 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยหลักฐานที่ใช้ประกอบการยื่นลดหย่อนภาษีปี 2567 นี้ ต้องใช้หลักฐานในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น ไม่สามารถใช้เอกสารในรูปแบบกระดาษเหมือนกับโครงการช้อปดีมีคืน ที่ใช้ในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2566 ได้
สำหรับสินค้าหรือบริการที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามมาตราการนั้น ได้แก่ สินค้าและบริการจากผู้ประกอบการที่เสียภาษี หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และ e-Book นอกจากนี้ ยังครอบคลุมสินค้า OTOP ที่ลงทะเบียนกับทางกรมพัฒนาชุมชนด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หากใครที่ซื้อสินค้าและบริการในช่วงโครงการ EASY E-Receipt ที่ได้รับใบกำกับภาษีหรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สามารถเก็บเอกสารทางธุรกิจหรือหลักฐานดังกล่าวเพื่อใช้ประกอบการยื่นภาษีในต้นปี 2568 ได้
จะเห็นได้เลยว่า ระหว่างใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ e-Tax Invoice และ ใบกำกับภาษีแบบกระดาษ นั้น ต่างก็มีหน้าที่ที่ใช้บอกข้อมูลของสินค้าและบริการเหมือน ๆ กัน เพียงแต่ e-Tax Invoice จะมาในรูปแบบของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น และหากชาวมนุษย์เงินเดินคนไหนที่ได้ช้อปในช่วงมาตรการ EASY E-Receipt ก็อย่าลืมเก็บไฟล์ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เพื่อใช้สำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประกอบการขอลดหย่อนภาษีปี 2567 นี้
ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE
คู่มือการใช้งาน : HELP
ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่
บทความบัญชี: smemove.com/blog
Facebook: Facebook.com/smemove.th
Youtube: SMEMOVE