ปฏิทินยื่นภาษี 2566 เตรียมตัวไว้ก่อนยื่นงบการเงิน และแบบรายงานประจำปี

By posted on June 7, 2023 3:46PM
ปฏิทินยื่นภาษี 2566 เตรียมตัวไว้ก่อนยื่นงบการเงิน และแบบรายงานประจำปี

ในการทำธุรกิจนั้นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ คือการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งทาง SMEMOVE ก็ไม่รอช้า พร้อมจะมาอัปเดต ปฏิทินยื่นภาษี 2566 สำหรับคนทำธุรกิจให้ฉบับรวบรัด เพื่อให้คนทำธุรกิจหรือนักบัญชี สามารถวางแผนและเตรียมความพร้อมในการยื่นเอกสารต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะ เอกสารทางธุรกิจ ที่มีความสำคัญต่อการยื่นภาษีกับทางกรมสรรพากรเป็นอย่างมาก

สรุปไทม์ไลน์ปฏิทินยื่นภาษี 2566 สำหรับนิติบุคคลฉบับมัดรวม

ในการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล ปี 2566 นั้น ทางฝ่ายบัญชีหรือผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ จะต้องดำเนินการเตรียมตัวตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะการยื่น ภ.ง.ด. 1ก เพื่อให้พนักงานในองค์กรนำไปประกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และต้องเตรียมจัดการประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อนำไปสู่การยื่นงบการเงินในช่วงปลายเดือน พ.ค. ของทุกปี แล้วตามด้วยการยื่นแบบรายงานประจำปี ตามปฏิทินยื่นภาษีนั่นเอง

กุมภาพันธ์ 2566

  • 28 ก.พ. ยื่น ภ.ง.ด.1ก หรือสรุปการจ่ายค่าจ้าง ภาษีของพนักงาน ฯลฯ ตลอดปี

เมษายน 2566

  • 30 เม.ย. จัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่ออนุมัติการออกงบการเงิน (4 เดือนหลังการประชุม)

พฤษภาคม 2566

  • 15 พ.ค. ยื่นรายชื่อผู้ถือหุ้น หรือ บอจ.5 (14 วันหลังการประชุม)
  • 30 พ.ค. ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 (150 วันหลังวันสิ้นรอบ)
  • 30 พ.ค. ยื่นงบการเงิน (1 เดือน หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุม)

มิถุนายน 2566

  • 7 มิ.ย. ยื่นแบบรายงานประจำปี (Disclosure Form)

อย่างไรก็ตาม ปฏิทินยื่นภาษี ปี 2566 เบื้องต้นนั้น เป็นเพียงรายการหลัก ๆ ที่ทุกธุรกิจจะต้องดำเนินการแบบรายปี แต่จริง ๆ แล้ว ยังมีการยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย หรือ ภ.ง.ด. 1,3,53 , การยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ต้องทำในทุก ๆ เดือน ตามปฏิทินภาษีอากรด้วยเช่นกัน

สรุปไทม์ไลน์ปฏิทินยื่นภาษี 2566 สำหรับนิติบุคคลฉบับมัดรวม

Update ปี 2566 ไม่ต้องลงประกาศหนังสือพิมพ์เชิญประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น

เรียกว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวดีของคนทำธุรกิจ เพราะนับตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป บริษัทที่ไม่มีการออกหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือ ไม่ต้องลงประกาศหน้าหนังสือพิมพ์เรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นแล้ว เนื่องจากการแก้ไข พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2566 มาตรา 1175

นั่นหมายความว่า บริษัทจำกัดทั่วไปที่ไม่มีการออกหุ้น ที่มีใบหุ้นออกให้แก้ผู้ถือ ที่ตามกฎหมายต้องมีการบังคับให้เรียกประชุมใหญ่โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ก่อนวันประชุม 7 วัน ไปยังผู้ถือหุ้นทุกคนที่มีชื่อในทะเบียนของบริษัท หลังจากนี้ไม่ได้บังคับให้ต้องเรียกประชุม ผ่านการลงโฆษณาประกาศในหนังสือพิมพ์ด้วยอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากบริษัทมีการออกหุ้นชนิดที่มีใบหุ้นออกให้แก่ผู้ถือหุ้นอยู่ หรือว่ามีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ทางบริษัทยังคงต้องมีการลงประกาศโฆษณาหนังสือพิมพ์เชิญประชุมเช่นเดิม ซึ่งก็ถือว่าเป็นหนึ่งในมาตรการใหม่ที่ช่วยให้การยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลง่ายมากขึ้น ตามปฏิทินยื่นภาษีนั่นเอง

อัปเดต ปฏิทินยื่นภาษี 2566 สำหรับนิติบุคคล

รู้หรือไม่? ก่อนยื่นงบการเงิน ต้องผ่านการตรวจสอบจาก “ผู้ตรวจสอบบัญชี”

หนึ่งในสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในระบบบัญชีขององค์กร ก็คงหนีไม่พ้นการยื่นงบการเงิน ซึ่งหน้าที่ของเจ้าของกิจการ หรือผู้ทำบัญชีของธุรกิจก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม สำหรับการยื่นงบการเงิน เพราะจะต้องผ่านการตรวจสอบบัญชี และได้รับการรับรองเสียก่อน ถึงจะสามารถส่งงบการเงินในแต่ละปีได้

ดังนั้น ทาง SMEMOVE จะมาสรุปให้ดูกันว่า มีอะไรบ้างที่เจ้าของธุรกิจต้องเตรียมตัวก่อนยื่น โดยสามารถใช้หลักการเดียวกันนี้ได้ในทุก ๆ ปี

  • รายงานการประชุมของปีที่ผ่านมา ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในการดำเนินกิจการ
  • การเชิญประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 30 เมษายน เพื่อทำการอนุมัติการออกงบการเงินขององค์กร
  • ต้องอัปเดต Bank Statement เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการยืนยันยอดเงินคงเหลือทั้งหมด
  • การตรวจเช็กรายได้และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ถูกต้อง และอย่าลืมเช็กว่าตรงรอบบัญชีหรือไม่ ขาดตกตรงไหนไปบ้าง
  • รายงานลูกหนี้ เพื่อทำการสรุปยอดลูกหนี้คงค้าง และต้องทำการพิจารณาตั้งหนี้จะสูญ สำหรับลูกหนี้ค้างนาน
  • รายงานสินค้าคงเหลือ ว่าตรงกับรายงานหรือไม่ มีขาดหรือเกินตรงไหนบ้าง
  • รายงานเจ้าหนี้ จะทำให้เรารู้ว่าเราค้างหนี้ใครอยู่ และยอดหนี้เหลือตามที่บันทึกและเอกสารทางธุรกิจจริงหรือไม่

จะเห็นได้เลยว่า Check List การยื่นงบการเงินของธุรกิจนั้น เป็นสิ่งที่ต้องเตรียมในทุก ๆ ปี เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจ หรือแม้แต่นักบัญชีเอง ก็ต้องเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมในรายการต่าง ๆ ให้ละเอียด เพราะไม่ว่าจะเป็นการยื่นงบการเงินในปีใด ก็จะใช้หลักเกณฑ์ที่เหมือน ๆ กัน

ก่อนยื่นงบการเงิน ต้องผ่านการตรวจสอบจาก “ผู้ตรวจสอบบัญชี"

ยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 กับกรมสรรพากร ต้องรู้อะไรบ้าง?

นอกเหนือจากการส่งเอกสารให้กับผู้ตรวจสอบบัญชี เพื่อใช้ประกอบการยื่นงบการเงินแล้ว อีกหนึ่งรายการที่ห้ามพลาดก็คือ การยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือ ภ.ง.ด. 50 ให้กับทางกรมสรรพากร โดยจะต้องยื่นทุก ๆ สิ้นปี โดยตามกฎหมายกำหนดไว้ว่า ต้องยื่นภายใน 150 วัน หลังจากวันที่สิ้นงวด เพราะฉะนั้น ในกรณีที่ปิดงวดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ก็เท่ากับว่าต้องมายื่นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 ซึ่งก็ตรงตาม ปฏิทินยื่นภาษี ในปีนี้

ทั้งนี้ การยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ การยื่นภาษีที่คำนวณจากกำไรจากการดำเนินธุรกิจ หรือดำเนินกิจการ โดยจะต้องนำไปคูณกับอัตราภาษีไม่เกิน 20% และไม่ว่าบริษัทจะขาดทุนหรือได้กำไร ก็ต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ทั้งหมด

ยื่นแบบรายงานประจำปี (Disclosure Form) หนึ่งลิสต์ที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้

สำหรับการยื่นแบบรายงานประจำปี ก็เป็นอีกหนึ่งรายการที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้เช่นกัน เพราะถือว่าเป็นแบบเอกสารที่แสดงรายการที่จะเกิดขึ้นระหว่างกิจการ ที่เกี่ยวข้องกันในรอบปีบัญชีนั้น ๆ ที่ถูกเพิ่มเติมขึ้นมาจากการยื่นงบการเงิน

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ทางกรมสรรพากรได้ตรวจสอบว่ามีการถ่ายโอนกำไร จากบริษัทที่มีหน่วยภาษีสูง ไปยังบริษัทที่มีหน่วยภาษีที่ต่ำกว่าหรือไม่ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีความสัมพันธ์ตามมาตรา 71 ทวิ วรรค 2 ต้องยื่นแบบรายงานประจำปีทั้งหมด เรียกง่าย ๆ ว่าไม่ได้มีไว้เพื่อตรวจสอบภาษี แต่เอาไว้ตรวจสอบ Transfer Pricing มากกว่า

“Transfer Pricing หมายถึง การที่คู่สัญญาทำธุรกรรมระหว่างกัน โดยกำหนดราคาซื้อ-ขายสินค้า หรือการให้บริการที่ต่างไปจากราคาตลาด หรือก็คือ Arm’s Length Price”

สำหรับกิจการที่เข้าข่ายต้องยื่นแบบรายงานประจำปี คือ กิจการที่มีรายได้ทั้งหมดมากกว่า 200 ล้านบาทในรอบบัญชีนั้น ๆ และกิจการที่มีลักษณะความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ วรรค 2 โดยครอบคลุมทั้งกิจการที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ

ยื่นแบบรายงานประจำปี (Disclosure Form) หนึ่งลิสต์ที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้

จะเห็นได้เลยว่า การยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล จากปฏิทินยื่นภาษี 2566 นั้น ผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการหรือผู้ทำบัญชี ต้องเตรียมข้อมูลมาก่อนแล้ว เพราะการยื่นแบบนั้นจะเกิดขึ้นต่อ ๆ กัน ทั้งการยื่นงบการเงิน การยื่นรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) และการยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นรอบปีใด ๆ ก็ตาม เจ้าของธุรกิจต้องเตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่ก่อนสิ้นปี เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด เพราะบางอย่างก็ไม่สามารถย้อนกลับมาแก้ไขได้ทันนั่นเอง

ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE

คู่มือการใช้งาน : HELP

ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่

บทความบัญชี: smemove.com/blog

Facebook: Facebook.com/smemove.th

Youtube: SMEMOVE