แนะนำการวางแผนเกษียณ ฉบับมนุษย์เงินเดือน แบบง่าย ๆ ว่ามีอะไรบ้างที่ต้องรู้ ด้วยวิธีการวางแผนเกษียณที่ทำได้จริง พร้อมการวางแผนด้านการเงินฉบับมนุษย์ออฟฟิศ ว่าหากต้องการเกษียณ มีอะไรบ้างที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม แล้วหากต้องการลงทุนเพื่อวางแผนเกษียณให้เร็วมากขึ้น ต้องลงทุนยังไง ออมเท่าไหร่ถึงจะพอใช้ในยามเกษียณ
การวางแผนเกษียณสำคัญยังไง?
ความสำคัญของการวางแผนเกษียณอายุ คือการเตรียมความพร้อมในช่วงเวลาที่ต้องการใช้ชีวิตอิสระอย่างมั่นคง โดยเฉพาะในช่วงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มเข้ามา ดังนั้น การเตรียมเงินให้พร้อมต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณ จึงเป็นเรื่องสำคัญของคนวัยทำงานที่ควรเตรียมความพร้อมเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ความมั่นคงด้านการเงินในระยะยาว ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่เป็นภาระให้กับลูกหลาน
และที่สำคัญคือ หากวางแผนเกษียณเร็ว ยังช่วยทำให้ไม่ต้องแบกรับภาระหนี้สินจนเกินความจำเป็น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่สามารถหารายได้ได้เทียบเท่ากับวัยทำงาน ซึ่งการวางแผนเกษียณยังสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี นั่นหมายความว่า มูลค่าของเงินในตอนนี้ก็จะลดลงในอนาคตไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็จะส่งผลทั้งต่อคุณภาพชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นกัน
วิธีวางแผนเกษียณแบบง่าย ๆ ฉบับมนุษย์เงินเดือน
วิธีการวางแผนเกษียณสำหรับมนุษย์เงินเดือน สามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่เป็น First Jobber หรือผู้ที่เริ่มต้นทำงาน เพราะยิ่งวางแผนและเริ่มต้นได้เร็ว ก็จะทำให้มีระยะเวลาในการเตรียมตัวได้นานขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนที่สามารถแบกรับความเสี่ยงได้มากกว่าผู้ที่ทำงานมาแล้วในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ SMEMOVE จะมาแนะนำวิธีวางแผนเกษียณแบบง่าย ๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดเป็นแนวทาง หรือโปรแกรมวางแผนเกษียณที่เหมาะกับตนเองได้
1. คำนวณค่าใช้จ่ายที่ต้องการใช้ในยามเกษียณ
โดยการคำนวณว่าต้องการใช้เงินเท่าไหร่ในยามเกษียณ ควรคำนวณไปเลยว่า แต่ละเดือนจะใช้เท่าไหร่ ซึ่งการคำนวณจะต้องนำ “อัตราเงินเฟ้อ” เข้าไปคิดด้วย โดยสูตร Future Value การคำนวณที่สามารถใช้ได้คือ
- FV = PV(1+i) ^n
- เงินเก็บหลังเกษียณ = จำนวนเงินที่จะใช้ *(1+อัตราเงินเฟ้อ) ^จำนวนปีของอายุที่เหลืออยู่
เพราะฉะนั้น หากคาดว่าจะใช้เงินเฉลี่ยเดือนละ 15,000 บาท ก็เท่ากับว่า 1 ปี จะต้องเก็บเงินให้ได้อย่างน้อย 180,000 บาท เท่ากับว่าในระยะ 17 ปี (ตามอายุเฉลี่ยอายุหลังเกษียณของคนไทย) จะเท่ากับมีเงินเก็บทั้งหมด 3,060,000 บาท เมื่อนำมาเข้าสูตรก็จะได้
- 3,060,000 *(1+2%)^17 = 4,284,739 บาท (อัตราเงินเฟ้อใช้ 2%)
- นั่นเท่ากับว่าเงินที่จะต้องใช้จริง ๆ ในยามเกษียณตลอด 17 ปี คือจำนวน 4,284,739 บาท
ดังนั้น เมื่อได้จำนวนเงินที่จะใช้ในยามเกษียณ และคิดร่วมกับอัตราเงินเฟ้อแล้ว ก็จะเห็นว่ายังมีส่วนที่ขาดอยู่ ซึ่งก็จะนำไปสู่การวางแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณโดยเฉพาะ เพื่อให้มีเงินใช้ตามจำนวนที่ต้องการนั่นเอง
2. ตรวจสอบเงินออมที่มีในตอนนี้
ก่อนจะวางแผนเกษียณก็ต้องมาสำรวจตัวเองก่อนว่า เงินออมที่มีในตอนนี้มีจำนวนเท่าไหร่ แล้วควรจะเริ่มเก็บหรือลงทุนเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง ซึ่งการสำรวจว่าปัจจุบันเรามีเงินออมเพื่อเกษียณ ต้องดูหลาย ๆ อย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็น บัญชีเงินฝาก เงินทุนประกันสังคม กองทุนสำรองลี้ยงชีพ ประกันออมทรัพย์ รวมไปถึงการลงทุนในด้านต่าง ๆ ที่ลงทุนด้วยตัวเอง อาทิ หุ้น คริปโต ฯลฯ
แน่นอนว่า เมื่อเราสำรวจเงินออมที่มีแล้ว จะทำให้เห็นว่าขาดเงินออมเท่าไหร่ เพื่อจะใช้ชีวิตในยามเกษียณได้อย่างไม่มีความกังวล เช่น หากตอนนี้มีเงินออมรวมกันทั้งหมด 500,000 บาท ก็เท่ากับว่าเราต้องออมเพิ่มอีก 4,284,739 บาท เพื่อให้เพียงพอทั้งต่อในใช้ชีวิตยามเกษียณตามที่ตั้งเป้าเอาไว้
ซึ่งการสำรวจเงินออมที่มีและการคำนวณเงินที่ต้องการใช้ในยามเกษียณ เป็นการสำรวจตนเองว่าจะต้องวางแผนอย่างไรเพิ่มเติม ควรจะลงทุนตรงไหนเพิ่มบ้าง หรือว่าจะมีการหารายได้จากทางอื่น ๆ เพิ่มเติมไหม ซึ่งบางคนก็อาจจะเลือกการออมเงินจากประกันออมทรัพย์ในระยะยาว หรืออาจจะเลือกลงทุนในกองทุนต่างๆ เช่น กองทุน RMF ที่นอกจากจะช่วยสร้างวินัยในการออมเงินในระยะยาวแล้ว ยังนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย
3. วางแผนการลงทุน สร้างเงินออมให้มากขึ้น
ในการวางแผนการลงทุน จะต้องวางแผนให้มีความหลากหลาย และเหมาะสมกับช่วงวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 30 ที่สามารถแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากกว่า เนื่องจากมีระยะเวลาในการลงทุนที่นาน ซึ่งการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงจะมีข้อดีคือ ผลตอบแทนสูง แต่กลุ่มที่ลงทุนแล้วความเสี่ยงต่ำ ก็จะหมายถึงผลตอบแทนต่ำตามไปด้วย ดังนั้น การวางแผนพอร์ตการลงทุนจึงควรบาลานซ์ให้ดี ทั้งกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงปานกลาง และความเสี่ยงต่ำ
- ระดับความเสี่ยงสูง สามารถลงทุนได้สูงสุดถึง 70% ของพอร์ตการลงทุน เช่น การลงทุนในกองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมน้ำมัน หุ้นสามัญ ฯลฯ
- ระดับความเสี่ยงปานกลาง ลงทุนได้เฉลี่ย 20% จากพอร์ต โดยมีให้เลือกหลายรูปแบบ อาทิ ตราสารหนี้ภาคเอกชน กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะยาว รวมถึงการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
- และระดับความเสี่ยงต่ำ ซึ่งสามารถลดงทุนได้ 10% โดยเน้นการลงทุนกับเงินฝาก พันธบัตร หรือกองทุนรวมตลาดเงิน
ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ที่ต้องการวางแผนเกษียณ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสายเกินไป แต่ข้อจำกัดคือ การลงทุนที่จะต้องมุ่งเน้นความมั่นคง ความเสี่ยงปานกลางไปจนถึงระดับต่ำ หรือกลุ่ม Moderate Portfolio ซึ่งบางคนอาจจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำในการลงทุนร่วมด้วย และควรเน้นการลงทุนในระยะกลางไปจนถึงระยะยาว ลงทุนแล้วถือไม่ต้องไปปรับพอร์ตหรือการลงทุนบ่อยเกินไป ซึ่งบางคนก็อาจจะเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ RMF แล้วค่อยแบ่งไปลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ทั่วไป
หมายเหตุ: กลุ่มผู้มีรายได้มากกว่า 40 ปี ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีฐานภาษีที่สูง เพราะมีรายได้ที่มากกว่า ดังนั้น การวางแผนการลงทุนควรดูควบคู่ไปกับฐานภาษีที่ต้องชำระ เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี สามารถนำไปลดหย่อนได้ในรอบปีภาษีนั้น ๆ
4. การทบทวนเป้าหมายและของชีวิต
การวางแผนการลงทุนที่ดี และสามารถสำเร็จตามเป้าที่วางเอาไว้ จะต้องมีการรีเช็กและทบทวนเป้าหมายของชีวิตอยู่เสมอ นั่นหมายความว่า เราจะต้องมีการวางแผนและการเตรียมความพร้อมอย่างครอบคลุม โดยที่ก็ยังได้ใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการ สามารถทำในสิ่งที่ชอบได้ มี Work Life Balance ที่ดี ซึ่งอาจจะเริ่มต้นจากการวางแผนการลงทุนที่สม่ำเสมอ เพิ่มรายได้ให้มากขึ้น ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และบริหารพอร์ตลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวังเอาไว้ และมีแผนสำรองเพื่อปรับเปลี่ยนแผนการออมให้เหมาะสมในแต่ละช่วงให้ดี
อย่าลืม! วางแผนเกษียณให้มั่นคง ให้ลดภาระหนี้ก้อนโตให้มากที่สุด!
อีกหนึ่งการวางแผนเกษียณที่ดีและสามารถเกษียณได้เร็ว โดยที่มีเงินใช้ในยามเกษียณอย่างเพียงพอก็คือ การลดภาระหนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พยายามอย่าก่อหนี้ก้อนโต เช่น การผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ที่ต้องผ่อนชำระในระยะยาว หากเป็นไปได้ให้พยายามปิดหนี้ให้หมดก่อนเกษียณอายุ หรือให้หาทางลดดอกเบี้ยให้มากที่สุด ซึ่งในบางคนก็จะใช้วิธีการรีไฟแนนซ์ หรือเลือกโปะหนี้ทีละมาก ๆ อาทิ เมื่อได้รับโบนัสจากการทำงานก็จะนำโบนัสไปโปะหนี้ส่วนหนึ่ง เป็นต้น
ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE
คู่มือการใช้งาน : HELP
ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่
บทความบัญชี: smemove.com/blog
Facebook: Facebook.com/smemove.th
Youtube: SMEMOVE