เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนหรือคนทำงานหลาย ๆ คน ต่างก็ต้องเคยได้ยินคำว่า “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” กันมาไม่มากก็น้อย เพราะนับว่าเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่บริษัทหลาย ๆ ที่มีให้พนักงานในองค์กร เพราะฉะนั้น ทาง SMEMOVE จะพาคุณมาทำความรู้จักกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มากขึ้น ว่าคืออะไร เป็นกองทุนที่ทำหน้าที่อย่างไร สัดส่วนของเงินสมทบคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง แล้วทำไมถึงมีบทบาทต่อคนทำงานและบริษัทในยุคนี้?
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คืออะไร
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) คือ กองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาโดยความสมัครใจ โดยเงินที่ใช้สมทบจะมีทั้งหมด 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่ลูกจ้างจ่ายเงินสะสม และส่วนของนายจ้างจ่ายเงินสมทบ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของกองทุนนี้ คือการเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในยามที่ลูกจ้างเกษียณหรือออกจากงานนั่นเอง โดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็เปรียบเสมือนการออมในรูปแบบหนึ่ง เน้นการสะสมเงินออมในระยะยาวเพื่อใช้ในอนคตของลูกจ้างในยามชราภาพ
สัดส่วนของเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
1. เงินสะสม (ส่วนของลูกจ้าง)
หรือก็คือเงินที่ลูกจ้างที่สมัครเป็นสมาชิกในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้สมทบเข้ากองทุน โดยเงินดังกล่าวจะทำการหักออกจากเงินค่าจ้างตามอัตราที่กำหนด ซึ่งอัตราสมทบจะต้องไม่ต่ำกว่า 2% และไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้างที่ได้รับ
2. เงินสมทบ (ส่วนของนายจ้าง)
โดยเป็นเงินที่นายจ้างช่วยสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นประจำเมื่อมีการจ่ายค่าจ้าง ซึ่งอัตราที่กำหนดจะต้องไม่ต่ำกว่า 2% และไม่เกิน 15% ของเงินค่าจ้างเช่นกัน ซึ่งโดยส่วนมากแล้วอัตราสะสมจะขึ้นอยู่กับนโยบายของนายจ้าง เช่น บางบริษัทอาจจะสมทบให้ถึง 15% ในขณะที่ลูกจ้างสมทบเพียง 2% ของเงินเดือน
วิธีการทำงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เมื่อจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว เชื่อว่าหลาย ๆ คนก็คงอยากรู้ว่า เงินที่สมทบเข้าไปนั้นไปอยู่ไหน แล้วการบริหารจัดการของกองทุนแต่ละที่ทำอะไรบ้าง ซึ่งการบริหารจัดการเงินที่เราสมทบเข้ากองทุนไปนั้น จะมีผู้ดูแลที่เรียกว่า “บริษัทจัดการ” หรือ “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน” ที่จะนำเงินที่เราสมทบไปบริหารจัดการ และลงทุนในตราสารทางการเงินแต่ละประเภท
โดยการนำเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ถูกหักจากอัตราค่าจ้างในแต่ละเดือนไปบริหารหรือจัดการนั้น จะยึดตามประเภทที่ลูกจ้างได้เลือกเอาไว้ เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น ฯลฯ โดยสามารถเช็กยอดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พร้อมกับผลการดำเนินงานได้จาก “ผลประโยชน์ของเงินสะสม” และ “ผลประโยชน์ของเงินสมทบ” นั่นเอง
มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่งผลดียังไงต่อองค์กร?
องค์กรยุคใหม่หรือบริษัทที่มีสวัสดิการอย่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น นอกจากจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร ที่เล็งเห็นความสำคัญด้านการออมและหลักประกันของลูกจ้างแล้ว ยังส่งผลดีในด้านอื่น ๆ อีกมาก โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ลูกจ้างมีนิสัยการออมในระยะยาว ทำให้เป็นประโยชน์ต่อตัวลูกจ้างเอง รวมถึงการเป็นหลักประกันให้กับครอบครัวของพนักงาน เช่น กรณีที่เสียชีวิต ทางครอบครัวก็จะได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวนี้ทันที
และที่สำคัญคือ ยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างได้ด้วย เพราะลูกจ้างจะเห็นว่าองค์กรให้ความสำคัญต่อสวัสดิการของพนักงาน ทำให้พนักงานอยู่กับนายจ้างได้นาน เพราะในปัจจุบันนี้คนยุคใหม่จะเห็นความสำคัญของสวัสดิการ และการทำงานแบบ Work Life Balance กันมากขึ้น ดังนั้น การมีสวัสดิการที่ดีก็ย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างได้เช่นกัน
สิทธิประโยชน์ทางภาษี เมื่อมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
อีกหนึ่งเหตุผลที่ลูกจ้างหลาย ๆ คนให้ความสำคัญต่อการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็คือ ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากกองทุน โดยสามารถนำเงินสมทบไปใช้หักลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลธรรมดาได้ในแต่ละปี โดยใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และต้องไม่เกิน 500,000 บาท ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดน้อยกว่ากัน ให้หักลดหย่อนภาษีตามนั้น
ทั้งนี้ กรณีที่ลูกจ้างลาออกจากงาน เงินที่นำมาคำนวณภาษีจะมีทั้งหมด 3 ส่วน คือ ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบของบริษัท และผลประโยชน์ของเงินสมทบของบริษัท โดยเงื่อนไขการใช้สิทธิลดหย่อนภาษี จะมี 2 กรณีหลัก ๆ ที่ลูกจ้างควรรู้ คือ
- ลาออกจากงานที่มีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สามารถนำเงินที่ได้รับลดหย่อนได้ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ลดหย่อนได้ 7,000 x อายุงาน และส่วนที่ 2 ที่เหลือหักออกอีกร้อยละ 50
- จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งจำนวน ในกรณีที่ลาออกจากงานเมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และเป็นสมาชิกของกองทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี ต่อเนื่องกัน รวมถึงกรณีที่ทุพพลภาพหรือเสียชีวิต
รายชื่อบริษัทจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบัน
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เคดับบลิวไอ จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บางกอก แคปติตอล จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อีสท์สปริง (ประเทศไทย) จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด
- บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอไอเอ จำกัด
เมื่อย้ายงานหรือลาออก ต้องทำยังไงกับกองทุน?
กรณีที่ลาออกจากงาน ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของกองทุนยังคงเก็บเงินได้แบบต่อเนื่องในรูปแบบเดิม โดยสามารถเลือกแนวทางใดก็ได้ เช่น การโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทเดิมไปยังบริษัทใหม่ ซึ่งวิธีนี้จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือภาษี และอีกวิธีหนึ่งก็คือ การเลือกโอนไปยังกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้น เพื่อรับเงินโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเฉพาะ (RMF for PVD)
แน่นอนว่า การโอนนเงินแบบ RMF for PVD นั้น จะเป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับคนที่ย้ายงานไปบริษัทใหม่ แล้วพบว่ากองทุนของบริษัทใหม่อาจจะไม่ตอบโจทย์ หรือว่าไม่มีนโยบายลงทุนที่ถูกใจ ซึ่งหมายรวมถึงบริษัทที่อาจจะยังไม่มีสวัสดิการนี้ให้กับพนักงานก็ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังเหมาะสำหรับผู้ที่ลาออกไปประกอบธุรกิจส่วนตัว หรือทำกิจการเป็นของตัวเองได้ด้วย แต่ข้อสำคัญก็คือ การย้ายในรูปแบบนี้จะไม่สามารถย้ายกลับมาเป็นแบบ PVD ได้อีก
ตอบโจทย์ทุกธุรกิจ SMEs ด้วยโปรแกรมบัญชีออนไลน์ SMEMOVE
จะเห็นได้เลยว่า สวัสดิการต่าง ๆ ของพนักงาน โดยเฉพาะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่สวัสดิการของพนักงานที่น่าสนใจเท่านั้น เช่นเดียวกับทางผู้ประกอบการที่ต้องมีการดำเนินการในด้านเอกสารทางธุรกิจ และการค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมายให้กับพนักงาน เพราะฉะนั้น หากคุณเป็นผู้ประกอบการ SMEs มือใหม่ เพียงเลือกใช้ โปรแกรมบัญชีออนไลน์ SMEMOVE เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ตัวช่วยดีดีที่จะมาช่วยลดความยุ่งยากของการทำเอกสารด้านบัญชีได้แล้ว!
ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE
คู่มือการใช้งาน : HELP
ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่
บทความบัญชี: smemove.com/blog
Facebook: Facebook.com/smemove.th
Youtube: SMEMOVE