อย่างที่หลายๆ คนทราบกันดีอยู่แล้วว่าในปัจจุบันผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นกำลังกระจายตัวออกมาเป็นวงกว้างส่งผลให้การท่องเที่ยวหยุดชะงัก เศรษฐกิจซบเซา ซึ่งก็แน่นอนว่าทางรัฐมนตรีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงมีมติเห็นชอบ 6 มาตรการทางภาษี เพื่อลดผลกระทบ และอัดฉีดเงินเข้าระบบภายในเดือนเมษายน 2563 โดยประกอบไปด้วย
1. การลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5%
เพื่อให้ประชาชน และผู้ประกอบการทุกคนมีสภาพคล่องในการทำธุรกิจมากขึ้นในช่วงที่ประสบปัญหา ทางกระทรวงการคลังจึงได้ออกนโยบายสำหรับช่วยเหลือโดยการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน-กันยายน 2563 รอบปีภาษี 2563 ส่งผลให้การจ่ายภาษีมีอัตราที่น้อยลง กำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการนี้คือ บุคคลธรรมดา อย่างผู้ประกอบอาชีพอิสระ, ค่าจ้างทำของ, การให้บริการ และบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล (ยกเว้นมูลนิธิหรือสมาคม) ตามปกติที่ถูกหักภาษีหัก ณ ที่จ่าย 3%
2. ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พร้อมสิทธิหักเป็นรายจ่ายได้ 150%
ทางธนาคารออมสินได้เตรียมวงเงินสำหรับปล่อยกู้ไว้ 150,000 ล้านบาท ที่จะทำการคิดดอกเบี้ยในอัตรา 3% โดยแบ่งเป็น วงเงินสำหรับธนาคารออมสินปล่อยกู้เอง 15,000 ล้านบาท และวงเงินปล่อยกู้สำหรับสถาบันการเงินอื่นๆ ที่ปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ 135,000 ล้านบาท
ส่วนเงื่อนไขในการกู้ทางสถาบันการเงินแต่ละแห่งก็มีข้อกำหนดของตัวเองแตกต่างกันไป แต่อาจให้เพดานเงินกู้สูงสุด 20 ล้านบาท ซึ่งในการกู้ผู้ประกอบการสามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้มาหักเป็นสิทธิลดหย่อนภาษีได้โดยอัตราการหักคือนิติบุคคลหักค่าใช้จ่ายได้ 150% (สำหรับดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 31 ธันวาคม 2563 เท่านั้น) และการหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงสำหรับบุคคลธรรมดา
เงื่อนไขในการเข้าร่วม
- ต้องเปิดบริษัท หรือดำเนินธุรกิจครบ 12 เดือนแล้ว ตาม 1 รอบระยะเวลาบัญชี
- ต้องเป็นธุรกิจที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านต่อปี
- ต้องเป็นธุรกิจที่ทำบัญชีเดียว
- ต้องเป็นธุรกิจที่มีการจ้างพนักงานไม่เกิน 200 คน
3. สนับสนุนให้เอสเอ็มอีจ้างงานต่อเนื่อง
ด้วยมาตราการรักษาการจ้างงานด้วยสิทธิหักเป็นรายจ่ายได้ 300% สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ไม่มีการเลิกจ้างงาน หรือปรับลดพนักงาน ที่สามารถนำค่าใช้จ่ายมาใช้หักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง โดยสามารถหักลดหย่อนได้ตั้งแต่ 1 เมษายน – 31 กรกฎาคม 2563 ภายใต้เงื่อนไข
– ลูกจ้างจะต้องมีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท
– ลูกจ้างจะต้องเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม
– บริษัท หรือกิจการต้องดำเนินการมาครบ 12 เดือน (ก่อน 30 กันยายน 2563)
– บริษัท หรือกิจการต้องมีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อปี
– บริษัท หรือกิจการต้องมีพนักงานไม่เกิน 200 คน
4. เพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกการันตี 15 วันคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ทางกระทรวงการคลังได้มีนโยบายคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจส่งออกเร็วขึ้น เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับกิจการโดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ยื่นภาษีอย่างถูกต้อง และครบถ้วน ภายใต้เงื่อนไขเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป และเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ดีมีการเสียภาษีถูกต้อง ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด
ระยะเวลาการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
– กรณีที่ทำการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านอินเทอร์เน็ตจะได้รับเงินคืนภาษีไม่เกิน 15 วัน
– กรณีที่ทำการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มแบบกระดาษจะได้รับเงินคืนไม่เกินภาษีไม่เกิน 45 วัน
5. เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และตลอดหุ้น
เพื่อสนับสนุน และเพิ่มการลงทุนในตลาดทุน กระทรวงการคลังได้ตัดสินใจในการลดหย่อนภาษีสำหรับค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (กองทุน SSF) ตามที่ได้จ่ายจริงได้สูงสุด 200,000 บาท (ไม่มีข้อจํากัดเรื่องเพดาน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีเพราะให้สิทธิลดหย่อนตามที่ซื้อจริง) โดยเพดานสิทธิลดหย่อนที่แยกตากหากจากวงเงินลดหย่อน SSF ปกติ จึงไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องวงเงินที่ต้องนำไปรวมกับเงินเกษียณต่างๆ แต่อย่างใด
เงื่อนไขในการลงทุน SSF ครั้งนี้จะไม่เหมือนเงื่อนไขในการลงทุนที่ออกมาครั้งก่อนหน้า เพราะการลงทุนตามนโยบายของกระทรวงการคลังจะถูกนับเป็นวงเงินพิเศษโดยมีเงื่อนไขในการลงทุนดังนี้
– มีนโยบายในการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างน้อย 65%
– ซื้อหน่วยลงทุนภายใน 1 เมษายน – 30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น
– ระยะเวลาในการถือครอง 10 ปี
6.สนับสนุนการบริจาคเงิน เพื่อนำไปลดหย่อนภาษี
ในกรณีที่ผู้เสียภาษีมีการบริจาคเพื่อสนับสนุน สมทบทุนในการแก้ไขปัญหา COVID-19 สามารถใช้สิทธิการลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคในฐานะบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล โดยมีเงื่อนไขว่า
– จะต้องบริจาคผ่านระบบ e-Donation เท่านั้น
– จะต้องบริจาคเข้าบัญชีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อบริจาคสนับสนุนการแก้ปัญหาไวรัสโคโรนา-19 เลขที่ 067-0-13829-0 เท่านั้น
– บริจาคได้ตั้งแต่ 6 มีนาคม 2563 – 5 มีนาคม 2564
และทั้งหมดนี้ก็คือมาตรการในการรับมือ และเยียวยาผลกระทบที่ได้รับจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทางครม. ได้นำมาใช้เพื่อพยุงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้เบาบางลง และพร้อมจะกลับมาดำเนินกิจการต่อหลังผ่านพ้นวิกฤตเหล่านี้ไปได้ในอนาคต
ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่
บทความบัญชี: smemove.com/blog
Facebook: Facebook.com/smemove.th
Youtube: SMEMOVE