การยื่นแบบรายงานประจำปี หรือ Disclosure Form ที่ทางกรมสรรพากรได้มีการกำหนดยื่นเพิ่มเติม เพื่อใช้ตรวจสอบการถ่ายโอนกำไรของบริษัท หรือธุรกิจที่มีหน่วยภาษีสูงไปยังบริษัทที่มีภาษีต่ำกว่าหรือไม่ เพราะฉะนั้น SMEMOVE จะพาคุณมาเจาะลึกกันว่า การยื่นแบบรายงานประจำปี งบดุล และบัญชีกำไรขาดทุนที่ว่านี้คืออะไร ทำไมถึงสำคัญต่อองค์กรขนาดใหญ่บ้าง?
ทำความรู้จัก แบบรายงานประจำปี Disclosure Form คืออะไร?
แบบรายงานประจำปี หรือ Disclosure Form นับว่าเป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องจัดทำขึ้นในทุกปี เพื่อแสดงข้อมูลในการดำเนินงานและการประกอบการขององค์กรเพิ่มเติม ตามที่ทางกรมสรรพากรได้มีกำหนดยื่นเพิ่มเติม
โดยการยื่น แบบรายงานประจำปี นั้น จะใช้เพื่อตรวจสอบการทำธุรกรรมที่เรียกว่า “Transfer Pricing (TP)” หรือก็คือ การที่คู่สัญญาทำธุรกรรมระหว่างกัน โดยที่มีการซื้อ-ขาย สินค้าหรือการให้บริการที่ต่างจากราคาตลาด หรือ Arm’s Length Price นั่นเอง
สำหรับการยื่น แบบรายงานประจำปี Disclosure Form จะต้องจัดทำตามแบบที่กำหนดเอาไว้ตามระเบียบของกรมสรรพากร โดยกำหนดยื่นภายใน 150 วัน โดยนับตั้งแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งการยื่น Disclosure Form นี้ ไม่ได้มีไว้เพื่อตรวจสอบภาษี แต่จะใช้ประเมินความเสี่ยงในเรื่อง Transfer Pricing เท่านั้น หากมีความเสี่ยงก็จะมีการขอตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม
ใครบ้างที่มีหน้าที่ยื่น แบบรายงานประจำปี?
โดยปกติแล้วบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่ต้องยื่น แบบรายงานประจำปี หรือ Disclosure Form นั้น จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ
1. มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ วรรค 2 แห่งประมวลรัษฎากร
หรือก็คือนิติบุคคลที่มีตั้งแต่ 2 นิติบุคคลขึ้นไป โดยรวมทั้งกิจการที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยจะต้องมีความสัมพันธ์กันตามลักษณะดังต่อไปนี้
1.1 นิติบุคคลหนึ่งที่ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในอีกนิติบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด
แนวทางการพิจารณา : โดยจะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท B + C เนื่องจากบริษัท B ถือหุ้นทั้งหมด 100% ของบริษัท C และบริษัท A + C เนื่องจากบริษัท A ถือหุ้นโดยตรง 50% ของทุนทั้งหมด และมีการถือหุ้นโดยอ้อมในบริษัท C ดังนั้น บริษัท A และ B คือบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท C นั่นเอง
1.2 ผู้ถือหุ้นหรือผู้ที่เป็นหุ้นส่วน ซึ่งถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือโดยอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด
แนวทางการพิจารณา : จะพิจารณาความสัมพันธ์ทั้งบริษัท D + F, F + AB, F + E, F + G และ F + H อย่างเช่น บริษัท D + F จะเห็นว่าบริษัท D ถือหุ้นโดยตรง 50% ของทุนทั้งหมดของบริษัท F ซึ่งเป็นความสัมพันธ์กันตามข้อ 1.1 ในขณะที่บริษัท AB ก็ยังถือหุ้นโดยอ้อมถึง 50% ของทุนทั้งหมดของบริษัท F และโดยตรงอีก 50% ของบริษัท E เป็นต้น
1.3 มีความสัมพันธ์ทั้งในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุมภายใน ที่นิติบุคคลหนึ่งไม่สามารถดำเนินการได้โดยอิสระจากอีกนิติบุคคลหนึ่ง ตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ซึ่งอาจมีเหตุผลมาจากการพึ่งพิงอีกกิจการจนไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างอิสระ
2. มีรายได้ทั้งหมดมากกว่า 200 ล้านบาท ในรอบบัญชี
โดยรายได้ให้ดูจากงบเการเงิน ทั้งในส่วนของงบดุล และบัญชีกำไรขาดทุน ทั้งนี้ ให้รวมรายได้หลักและรายได้จากช่องทางอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน และหากบริษัทหรือนิติบุคคลใดที่มีเกณฑ์ตรงตามทั้ง 2 รายการที่กล่าวมานี้ ต้องดำเนินการยื่น แบบรายงานประจำปี แต่หากไม่มีเกณฑ์ก็ไม่จำเป็นต้องยื่น Disclosure Form นั่นเอง
หากไม่ยื่น Disclosure Form มีโทษอะไรบ้าง?
สำหรับนิติบุคคลหรือบริษัทที่เข้าเกณฑ์การยื่นแบบรายงานประจำปี พร้อมเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่สามารถแสดงข้อมูลได้อย่างถูกต้องครบถ้วน โดยที่ไม่มีเหตุสมควร ให้ระวางโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท และทางกรมสรรพากรยังได้กหนดอัตราการเทียบปรับได้ ในกรณีที่มีการยื่น Disclosure Form เกินกำหนดเวลาด้วยเช่นกัน
- ยื่นล่าช้าแต่ไม่เกิน 7 วัน โดยนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด ปรับ 50,000 บาท
- เกิน 7 วัน โดยนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนด ปรับ 100,000 บาท
- เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าไม่มีการยื่น ปรับ 200,000 บาท
แบบรายงานประจำปี มีอะไรบ้าง?
ในการยื่นแบบรายงานประจำปี องค์ประกอบหลัก ๆ ของการยื่นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่
- รายชื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีความสัมพันธ์กันทั้งที่ประกอบกิจการในไทยและต่างประเทศ
- มูลค่าธุรกรรมระหว่างกันในแต่ระรอบระยะเวลาบัญชี ไม่ว่าจะเป็น รายได้โดยตรง, รายได้อื่น, ค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบ/สินค้า, ซื้อ-ขาย ที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์, รายจ่ายอื่น ๆ รวมถึงจำนวนเงินกู้ยืมและให้กู้ยืม โดยจะนับถึงวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
- ข้อมูลอื่น ๆ อาทิ ผู้ที่มีหน้าที่จัดทำงบการเงิน, การปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจ (Business Restructuring) ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ ต้นทุน หรือกำไร และที่ขาดไม่ได้คือ ในรอบระยะเวลาบัญชีมีการจ่ายโอนทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนไปยังบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันหรือไม่
ช่องทางการยื่นแบบรายงานประจำปี หรือการยื่น Disclosure Form
ในการยื่นแบบรายงานประจำปี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถยื่นได้ทั้งหมด 2 ช่องทางด้วยกัน นั่นก็คือการยื่นผ่านทางเว็บไซต์ของทางกรมสรรพากร หรือที่ www.rd.go.th โดยตรง หรือจะยื่นผ่านระบบบริหาร Single Sign on บนเว็บไซต์ก็ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ หากมีปัญหาในการยื่น Disclosure Form โดยเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถยื่น e-Filing ได้ สามารถพิมพ์แบบประกอบการยื่นจากระบบ แล้วทำหนังสือแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร พร้อมนำไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาของถานที่ประกอบการตั้งอยู่ตามระยะเวลาที่กำหนด นั่นก็คือภายใน 150 วัน นับจากรอบระยะเวลาบัญชีนั่นเอง อย่างเช่น ในการยื่น แบบรายงานประจำปี 2565 บริษัท ก็ต้องยื่นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2566
อย่างไรก็ตาม ในการยื่นแบบรายงานประจำปี หรือการยื่น Disclosure Form ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สิ่งสำคัญคือการเตรียมตัวของนักบัญชีที่ต้องเตรียมเอกสารและข้อมูลเบื้องต้น ตามที่ทางกรมสรรพากรกำหนดว่า การยื่น แบบรายงานประจำปี มีอะไรบ้าง แล้วควรยื่นแบบรายงานประจำปี งบดุล และบัญชีกำไรขาดทุน อย่างไรในแต่ละปี ซึ่งวิธีที่เหมาะสมคือการสร้างชื่อบัญชีที่แยกออกมา เพื่อให้มีความเป็นระบบในการจัดเก็บเอกสารทางธุรกิจ หรือแม้แต่การตรวจเช็กความถูกต้องก่อนนำส่งข้อมูลในแต่ละปีนั่นเอง
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าชาว SME มือใหม่ หรือผู้ประกอบการที่ยังไม่เข้าเกณฑ์การยื่น Disclosure Form แต่ก็อย่าลืมว่าการเตรียมเอกสารทางธุรกิจก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะต้องใช้ประกอบการยื่นภาษีเงินได้ในแต่ละปี ตามปฏิทินยื่นภาษี หรือหากใครที่อยากจะทำเอกสารทางธุรกิจแบบง่าย ๆ ด้วยโปรแกรมบัญชีออนไลน์ สำเร็จรูป ก็สามารถเลือกใช้โปรแกรมบัญชีออนไลน์ SMEMOVE ได้เช่นกัน
ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE
คู่มือการใช้งาน : HELP
ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่
บทความบัญชี: smemove.com/blog
Facebook: Facebook.com/smemove.th
Youtube: SMEMOVE