ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก เงื่อนไขใหม่ที่คุณควรรู้ (2562)

By posted on September 10, 2019 2:00PM

หลายคนอาจได้ยินข่าวคราวของการเรียกเก็บ “ภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก” กันมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าตกลงมันเป็นยังไงกันแน่ จะเก็บหรือไม่เก็บ จะเก็บอย่างไร แล้วเก็บจากทุกคนไหม วันนี้มาดูกันเลย

แค่ฝากเงิน ทำไมจะต้องเสียภาษี??

การจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากถือเป็นกระบวนการของกรมสรรพากรที่ทำการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากเงินฝากที่มีมาแต่เดิมแล้ว ไม่ใช่กฎหมายหรือมาตรการใหม่แต่อย่างใด เนื่องจากดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจากธนาคารจะต้องถูกธนาคารทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราที่กรมสรรพากรกำหนด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเงินฝากบางประเภทก็ได้รับการยกเว้นภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

โดยปกติแล้วเมื่อบัญชีเงินฝากของคุณได้รับดอกเบี้ยในการฝากออมทรัพย์เกิน 20,000 บาทต่อปี จะเริ่มถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15 % แต่ถ้าหากดอกเบี้ยจากเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาทต่อปีการหักภาษี ณ ที่จ่ายจะได้รับการยกเว้น แต่ด้วยช่องโหว่ของกฎหมายทำให้ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก

ด้วยวิธีการปิดบัญชีฝากออมทรัพย์ที่มียอดดอกเบี้ยใกล้ 20,000 บาท แล้วเปิดบัญชีใหม่เพื่อไม่ให้อัตราดอกเบี้ยตรงกับกฎหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้นทางกรมสรรพากรจึงจำเป็นที่จะต้องป้องกันการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ณ ที่จ่าย 15% ด้วยการออกมาตรการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากฉบับใหม่ขึ้นมา

รายละเอียดมาตรการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากปี 2562

ในวันที่ 4 เมษายน 2562 ที่ผ่านมานี้กรมสรรพากรก็ได้ออกมาแจ้งเรื่องราวเกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับ 344 ที่ยังคงให้สิทธิในการยกเว้นภาษี ณ ที่จ่ายให้กับดอกเบี้ยเงินฝากที่ไม่ถึง 20,000 บาท ซึ่งก็เป็นไปตามเงื่อนไขเดิมก่อนที่จะมีการปรับแก้มาตรการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากฉบับใหม่ แต่เงื่อนไขจะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังนี้

ไม่ต้องเซ็นต้องยินยอม เพราะธนาคารจะนำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ

ในช่วงแรกที่รายละเอียดเกี่ยวกับการภาษีดอกเบี้ยเงินฝากฉบับใหม่ออกมา ได้มีการประกาศให้ผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปีออกมาลงทะเบียนแจ้งความต้องการให้ธนาคารยื่นส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรเพื่อหลีกเลี่ยงการหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก 15% แม้ดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาทต่อปี

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหากผู้ใช้บัญชีที่มีดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาทต่อปีจะออกไปลงทะเบียนเพื่อยินยอมด้วยตนเองความวุ่นวายคงจะตามมาไม่น้อยเพราะผู้ฝากเงินจำนวนมากได้รับดอกเบี้ยไม่ถึง 20,000 บาท ดังนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่โดยเจ้าของบัญชีที่มีดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาทต่อปี ไม่ต้องไปเซ็นยินยอมที่ธนาคาร โดยให้ถือว่าบุคคลเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ให้ธนาคารยื่นส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรอัตโนมัติ

เมื่อเราไม่ต้องการนำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร

สำหรับใครที่ไม่ต้องการให้ธนาคารยื่นส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร เจ้าของบัญชีเงินฝากจำเป็นจะต้องไปเซ็นชื่อแจ้งความประสงค์ที่ธนาคาร บุคคลที่ไม่ประสงค์นำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรแม้จะมีดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 20,000 บาทก็จะต้องเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝาก ณ ที่จ่าย 15% ทันที โดยทางกรมสรรพากรจะทำการตรวจสอบจำนวนดอกเบี้ย วิธีการคำนวณดอกเบี้ยจากข้อมูลที่ธนาคารนำส่ง (สุดท้ายก็โดนตรวจสอบทั้งสองกรณีไม่ว่าจะยินยอม หรือไม่ยินยอม)

ใครเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี

 

หากถามว่าใครเป็นผู้เสียภาษีคำตอบง่ายๆ เลยค่ะเจ้าของบัญชีเงินฝากนั่นแหละที่ต้องเสียภาษีในลักษณะของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้รับผลประโยชน์จากดอกเบี้ย ที่เป็นผลตอบแทนของเงินฝาก

สามารถหลีกเลี่ยงการเสียภาษีดอกเบี้ยเงินฝากได้ไหม

คุณไม่จำเป็นจะต้องรู้สึกกังวลใจอะไรมากนักแม้นี่อาจจะดูเหมือนการบีบบังคับให้คุณเปิดเผยข้อมูลทางการเงินต่อสรรพากร เพราะนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีเท่านั้น ไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงปรับเปลี่ยนเพื่อเอาเปรียบประชาชน เพียงแต่ต้องการให้เงื่อนไขเหมาะกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน

หากคุณปฏิบัติตามเงื่อนไขทั้งหมดแล้วไม่ว่าจะได้รับดอกเบี้ยจากเงินฝากถึง 20,000 บาท หรือไม่ถึง 20,000 บาทต่อปี ก็ไม่ต้องรู้สึกกังวลใจในเรื่องนี้มากนัก เพียงแต่ปล่อยให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ ก่อนจากกันเราขอฝากไว้อีกนิดว่ามาตรการเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากนั้นไม่ใช่มาตรการที่กรมสรรพากรใช้ในการตรวจสอบบัญชีเงินฝากของคุณ

ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่

บทความบัญชี: smemove.com/blog

Facebook: Facebook.com/smemove.th

Youtube: SMEMOVE