“ภาษีธุรกิจเฉพาะ” คืออะไร แล้วมีใครบ้าง ที่ต้องเสียภาษี

By posted on November 14, 2023 7:45PM
ภาษีธุรกิจเฉพาะ คืออะไร แล้วมีใครบ้าง ที่ต้องเสียภาษีชนิดนี้

คำว่า “ภาษีธุรกิจเฉพาะ” เป็นหนึ่งในคำที่หลาย ๆ คน อาจจะเคยได้ยินผ่านหูมาบ้าง แต่ว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจว่า ภาษีธุรกิจเฉพาะ คืออะไร แล้วทำไมในแวดวงการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ถึงมีภาษีธุรกิจเฉพาะเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้น ทาง SMEMOVE จะพาคุณมาเจาะลึกทุกข้อมูล ว่าภาษีธุรกิจเฉพาะคือภาษีอะไร มีกิจการไหนบ้างที่เกี่ยวข้องหรือได้รับการยกเว้นภาษีนี้

ภาษีธุรกิจเฉพาะ คืออะไร?

ภาษีธุรกิจเฉพาะ คืออะไร?

ภาษีธุรกิจเฉพาะ หมายถึง ภาษีที่เก็บจากกิจการบางประเภท ตามที่กฎหมายกำหนดเป็นพิเศษ โดยเป็นภาษีที่ถูกแยกออกมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งทางกรมสรรพากรจะเป็นผู้จัดเก็บภาษีดังกล่าวนี้ ทั้งในรูปแบบของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยผู้ที่มีหน้าที่จ่ายภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องทำการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ภายในวันที่ 30 นับตั้งแต่วันที่เริ่มกิจการ ด้วยการยื่นแบบคำขอ ภ.ธ.01

กิจการหรือธุรกิจต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ มีอะไรบ้าง?

  • กิจการธนาคาร
  • ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์
  • ธุรกิจประกันชีวิต
  • กิจการโรงรับจำนำ
  • การประกอบการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ อาทิ การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน การแลกเปลี่ยนเงินตรา ฯลฯ
  • การขายอสังหาริมทรัพย์ ที่นับเป็นการค้าหรือการหากำไร
  • การซื้อ-ขายคืนหลักทรัพย์
  • ธุรกิจอื่น ๆ ที่กำหนด อาทิ ธุรกิจแฟ็กเตอริง (Factoring)

ธุรกิจขายอสังหาริมทรัพย์ กับภาษีธุรกิจเฉพาะ

ธุรกิจขายอสังหาริมทรัพย์ กับภาษีธุรกิจเฉพาะ

สำหรับผู้ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะที่เห็นได้บ่อย ๆ ก็คือ ธุรกิจขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ถือว่าเป็นการค้าหรือการหากำไรจะต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์ ที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอย่างชัดเจน ประกอบไปด้วย

  • การจัดสรรที่ดินขาย
  • การขายห้องชุด หรือคอนโด
  • การขายอาคาร หรืออาคารพร้อมที่ดิน
  • การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าตามข้อ 1 – 3 แต่เฉพาะกรณีที่มีการแบ่งขาย หรือแบ่งแยกไว้เพื่อขาย
  • การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ
  • การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าข่ายทั้ง 5 ข้อดังกล่าว แต่ว่าได้กระทำภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อสังหาริมทรัพย์นั้นมา

โดยอัตราการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน ขายบ้าน หรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ก็ตาม หากถือครองอสังหาริมทรัพย์น้อยกว่า 5 ปี จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่หากถือครองมานานกว่า 5 ปี (นับแบบวันชนวัน) หรือว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนานมากกว่า 1 ปี จะได้รับการยกเว้น ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยจะคิดในอัตราร้อยละ 3.3 ของราคาซื้อขาย หรือราคาประเมิน โดยจะยึดราคาที่สูงกว่าสำหรับการใช้เป็นเกณฑ์การคำนวณ โดยสูตรการคำนวณสามารถใช้ง่าย ๆ ดังนี้

  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ = [รายรับก่อนหักรายจ่าย หรือราคาประเมิน x อัตราภาษี 3%] x อัตราภาษีท้องถิ่น 10%
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ = รายรับก่อนหักรายจ่าย หรือราคาประเมิน x อัตราภาษี 3.3%

การขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ได้รับ “การยกเว้น เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ”

ถึงแม้ว่าการขายอสังหาริมทรัพย์จะเป็นธุรกิจที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ว่าก็ยังมีข้อยกเว้นด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น การถูกเวนคืน การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยไม่มีค่าตอบแทน หรือการโอนให้แก่ทายาทโดยธรรม การขายอสังหาหลังจาก 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้มา และการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสถานที่อยู่อันเป็นแหล่งสำคัญ ที่ผู้ขายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปี

เพราะฉะนั้น หากใครที่ต้องการขายอสังหาริมทรัพย์ ก็สามารถได้รับการยกเว้นการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะได้ เช่น หากขายบ้านที่ได้รับมาจากมรดก และได้ถือครองอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์นั้นเกินกว่า 5 ปี ก็ไม่ได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภาษีขายบ้าน) เป็นต้น และถึงแม้ว่าจะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย, ค่าอากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมการโอน ดังนั้น ผู้ที่ต้องการขายบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องวางแผนให้ดี และอย่าลืมศึกษารายละเอียดภาษีและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้ละเอียดทุกครั้ง

สรุป ฐานและอัตราภาษี สำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะ

เมื่อเราทำความเข้าใจกับ ภาษีธุรกิจเฉพาะ กันไปบ้างแล้ว เราจะมาดูกันว่า ฐานภาษีที่ใช้คำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะนั้นมีฐานอยู่ที่เท่าไหร่บ้าง ซึ่งการคำนวณจะใช้รายรับก่อนหักค่าใช้จ่าย โดยนับทั้งจากในและนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะคำนวณจากรายรับของธุรกิจแต่ละประเภทที่กำหนดเอาไว้ตามกฎหมาย แล้วนำไปคูณด้วยอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งทาง SMEMOVE ได้สรุปเอาไว้ให้แล้ว ว่าธุรกิจใดต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่บ้าง ดังนี้

ฐานและอัตราภาษี สำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะ

สาระน่ารู้! การยื่นภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับผู้ที่ต้องเสียภาษี

สำหรับการยื่นภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นกิจการใด ๆ ก็ตาม หากเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่ก็ถูกจัดอยู่ธุรกิจที่ต้องเสียภาษีดังกล่าวนี้ จะต้องดำเนินการยื่นแบบภาษีธุรกิจเฉพาะให้เรียบร้อย และต้องเตรียมเอกสารต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เพื่อใช้ประกอบการยื่นนั่นเอง

เอกสารที่ใช้สำหรับการยื่นภาษีธุรกิจเฉพาะ

  • รายงานแสดงรายรับทั้งหมดก่อนหักรายจ่าย โดยจะต้องจัดทำรายงานแบบรายวัน และจะต้องสรุปรายการทุกสิ้นเดือน
  • รายงานจะต้องจัดทำเป็นรายสถานประกอบการ และลงรายการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน นับตั้งแต่ที่มีรายการดังกล่าวเกิดขึ้น
  • การจัดเก็บรายงานจะต้องเก็บเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยจะนับตั้งแต่วันที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ หรือวันจัดทำรายงานนก็ได้เช่นเดียวกัน

How-To การยื่นภาษีธุรกิจเฉพาะ

  • ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการด้วยแบบ ภ.ธ.40
  • จะต้องแสดงประเภทกิจการ จำนวนเงินรายรับ จำนวนเงินภาษี และภาษีท้องถิ่นร้อยละ 10
  • ไม่ว่าจะมีรายรับในเดือนนั้น ๆ หรือไม่ ก็ต้องยื่นแบบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
  • สามารถยื่นภาษีธุรกิจเฉพาะได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องถิ่น หรือทางออนไลน์ก็ได้
  • หากยื่นทางออนไลน์สามารถขยายเวลายื่นและชำระภาษีออกไปได้อีก 8 วัน
  • หากภาษีในเดือนภาษีใดไม่ถึง 100 บาท ผู้ประกอบการ “ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ” ในเดือนนั้น
  • ถึงแม้ว่าไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในเดือนภาษีนั้น แต่ยังคงต้องยื่นแบบแสดงรายการเช่นเดิม

การยื่นภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับผู้ที่ต้องเสียภาษี

จะเห็นได้เลยว่า ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นหนึ่งในภาษีที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด โดยเฉพาะภาษีธุรกิจเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่จะมีข้อยกเว้นภารเสียภาษีอยู่บ้าง ทั้งนี้ หากใครที่ทำธุรกิจและต้องการทำเอกสารทางธุรกิจที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีระบบที่ครอบคลุมทุกการบริหารจัดการภายในองค์กร สามารถเลือกใช้โปรแกรมบัญชีออนไลน์ SMEMOVE ได้ ด้วยแพ็กเกจสุดคุ้มที่เหมาะสมกับทุกธุรกิจ และที่สำคัญคือ มีความปลอดภัยมากกว่า ด้วยการบันทึกข้อมูลบน Google Cloud โดยเฉพาะ

ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE

คู่มือการใช้งาน : HELP

ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่

บทความบัญชี: smemove.com/blog

Facebook: Facebook.com/smemove.th

Youtube: SMEMOVE