เคาะแล้ว! พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม 2567 เก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ 15%

By posted on April 1, 2025 10:49AM
เคาะแล้ว! พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม 2567 เก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ 15%

รัฐบาลไทยประกาศใช้ พระราชกำหนดการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการประกอบในไทย ที่มีความเชื่อมต่อกับต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า “พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม 2567” ที่จะส่งผลกระทบกับบริษัทข้ามชาตินับ 1,100 กลุ่มบริษัท แต่จะส่งผลดีต่อกรมสรรพากร ที่จะจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มจากบริษัทในกลุ่มดังกล่าวได้ถึง 1.2 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้น ทาง SMEMOVE จะมาสรุปสาระสำคัญของ ภาษีส่วนเพิ่ม ให้ฟังแบบง่าย ๆ ว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่น่าสนใจ

พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม 2567

พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม 2567 คืออะไร?

พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 คือ การเก็บภาษีส่วนเพิ่มในประเทศ หรือที่เรียกกันว่า Qualified Domestic Minimum Top-up Tax (QDMTT) จากบริษัทข้ามชาติที่มีรายได้ทั่วโลกมากกว่า 750 ยูโร หรือประมาณ 2.85 หมื่นล้านบาท จาก 2 ใน 4 ปีล่าสุด โดยบริษัทเหล่านี้เสียภาษีในไทยต่ำกว่า 15% ทางรัฐบาลไทยจะจัดเก็บภาษีเพิ่มจนครบ 15%

อย่างเช่น ในกรณีบริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterpries: MNEs) ทางกรมสรรพากรได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีในอัตรา 7% เท่ากับว่า รัฐบาลไทยจะต้องทำการจัดเก็บภาษีเพิ่มอีก 8% เพื่อให้ครบ 15% นั่นเอง

ทำไมต้องมีกฎหมายเก็บภาษีส่วนเพิ่ม?

หนึ่งในเหตุผลสำคัญของการออกกฎหมาย หรือ พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 นี้ ก็เป็นเพราะว่าหากประเทศไทยไม่ดำเนินการจัดเก็บภาษีในตอนนี้ เงินภาษีส่วนนี้อาจจะถูกจัดเก็บโดยประเทศแม่ของบริษัทข้ามชาติแทน หรืออาจจะเป็นการจัดเก็บโดยประเทศอื่น ๆ ด้วยกลไกล Undertaxed Profits Rule (UTPR) ทั้งยังช่วยการแก้ไขปัญหาเรื่องการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ นอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหาการโยกย้ายกำไรไปยังประเทศที่อาจจะไม่ต้องเสียภาษี หรือว่าเสียภาษีน้อยกกว่าได้ด้วย

ดยกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มกัลป์กลุ่มบริษัท MNEs ขนาดใหญ่ในไทย ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยูโร หรืออย่างน้อย 2 ใน 4 รอบระยะเวลาบัญชี ก่อนหน้ารอบระยะเวลาบัญชีที่พิจารณาหน้าที่การเสียภาษีส่วนเพิ่ม ต้องดำเนินการเสียภาษีในอัตราที่แท้จริง ในอัตรา 15% โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป และการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มนี้ คาดว่าจะทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้ปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท

วิธีการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม จากกรมสรรพากร

สรุป วิธีการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม จากกรมสรรพากร

1. การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศ

กฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มภายในประเทศ หรือ Qualified Domestic Minimum Top-Up Tax (QDMTT) นี้ จะใช้วิธีการจัดเก็บบริษัทลูกของ MNEs ต่างชาติที่ตั้งอยู่ในไทย บริษัทลูกของ MNEs สัญชาติไทยที่ตั้งอยู่ในไทย และบริษัทแม่ของ MNEs ไทย

2. การรวมเงินได้

สำหรับกฎการรวมเงินได้ หรือ Income Inclusion Rule (IIR) วิธีการนี้จะกระทบกับกลุ่มบริษัทแม่ลำดับสูงสุดมากที่สุด (Ultimate Parent Entity: UPE) ของ MNEs สัญชาติไทย หากประเทศที่บริษัทลูกที่ตั้งอยู่ไม่มีการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม

3. การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือ

กฎการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มคงเหลือ หรือ Under-Taxed Payments Rule (UTPR) ซึ่งกฎข้อนี้จะกระทบกับบริษัทลูกของ MNEs ต่างชาติที่ตั้งอยู่ในไทย หากประเทศที่บริษัทในเครือตั้งอยู่ไม่มีการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม

นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร

แนวทางการบรรเทาผลกระทบจาก พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม

การออกกฎหมาย พ.ร.ก.เก็บภาษีส่วนเพิ่ม หรือ พระราชบัญญัติภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ. 2567 นี้ ส่งผลกระทบกับบริษัทข้ามชาติไม่ใช่น้อย ทั้งการจ่ายภาษีที่เพิ่มขึ้นของนิติบุคคล รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ โดยทางกรมสรรพากรและบีโอไอเอง ก็ได้หาแนวทางและหารือการบรรเทาผลกระทบ ตลอดจนการกำหนดสิทธิประโยชน์ในรูปแบบของการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อทดแทนสิทธิประโยชน์ทางภาษี และส่งผลให้ฐานภาษีต่ำลง

แน่นอนว่า พระราชกำหนดภาษีส่วนเพิ่ม ไม่ใช่การตั้งกฎหมายขึ้นมาโดยประเทศไทย แต่เป็นการจัดเก็บภาษีเช่นเดียวกันกับการเสียภาษีขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) และเป็นแนวทางเดียวกันกับการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีส่วนเพิ่มของนานาประเทศ ที่จะช่วยลดภาระการปฏิบัติตามกฎหมายให้แก่กลุ่มบริษัท MNEs ที่ลงทุนในประเทศไทย และที่สำคัญคือ เป็นการส่งเสริมการลงทุนของประเทศไทย บนพื้นฐานของความยุ่งยืนทางการคลัง (กล่าวโดย นายปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร)

ทั้งนี้ การยื่นแบบแสดงรายการภาษี การชำระภาษี การยื่น GloBE Information Return รวมถึงการแจ้งข้อมูลนั้น ทางกรมสรรพากรจะอำนวยความสะดวกในการยื่นภาษีส่วนเพิ่ม ด้วยการดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยจะเตรียมความพร้อมและสร้างความรู้ความเข้าใจต่อผู้เสียภาษีอย่างถี่ถ้วน

พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม

สรุป

สำหรับ พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม 2567 นี้ ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งมาตรการการยกระดับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของประเทศไทย ที่นอกจากจะช่วยจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น และลดการหลีกเลี่ยงเสียภาษีแล้ว ยังช่วยทำให้การลงทุนมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง และทางกรมสรรพากรเองก็ต้องศึกษาทั้งผลกระทบและการรับมือในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะการออกนโยบายด้านภาษีสำหรับนักลงทุน หรือผู้ประกอบการ MNEs เช่นกัน

ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE

คู่มือการใช้งาน : HELP

ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่

บทความบัญชี: smemove.com/blog

Facebook: Facebook.com/smemove.th

Youtube: SMEMOVE