นักบัญชีที่ดีไม่ใช่แค่การเข้าใจและเก่งเรื่องตัวเลข แต่การรู้จักเอกสารทางธุรกิจก็สำคัญ โดยเฉพาะ “สัญญาจ้างทำของ” ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในเอกสารทางบัญชีที่มีผลกระทบเรื่องการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งการใช้สัญญาจ้างทำของจะมีความแตกต่างจากสัญญาจ้างทั่วไป หรือสัญญาซื้อขายอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้น ทาง SMEMOVE จะพาคุณมาทำความเข้าใจกับสัญญาชนิดนี้ให้มากขึ้น พร้อมแนะนำตัวอย่างสัญญาจ้างทำของ ว่ามีลักษณะอย่างไร หรือมีข้อสังเกตตรงไหนบ้าง?
ทำความรู้จัก สัญญาจ้างทำของ คืออะไร?
สัญญาจ้างทำของ คือ สัญญาที่ผู้รับจ้างตกลงทำการงานสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้กับผู้ว่าจ้าง โดยทางผู้ว่าจ้างตกลงให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จของงานนั้น โดยความสำคัญของสัญญาจ้างทำของก็คือ ผลสำเร็จของงานที่จ้าง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยสัญญาจ้างทำของจะมีอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในอัตรา 4% โดยสัญญาจ้างทำของผู้รับจ้างต้องเสียค่าอากรแสตมป์ 1/1,000 บาท ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ สัญญาจ้างทำของ มีความหมายรวมถึงการทำให้เกิดวัตถุมีรูปร่างอย่างใดอย่างหนึ่ง (Production of thing) รวมถึงการดัดแปลงต่อเติมวัตถุมีรูปร่าง และการทำงานให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเราจะจำง่าย ๆ ว่า การจ้างทำของเป้นการจ้างทำของจริง ๆ หรือเป็นการเหมาให้ทำงานที่ไม่เกิดเป็นสิ่งของก็ได้ เช่น การจ้างว่าความ การจ้างเขียนรูป ทาสีบ้าน ต่อเติมบ้าน แสดงภาพยนตร์ ฯลฯ
สาระสำคัญของ สัญญาจ้างทำของ มีอะไรบ้าง
1. สัญญาจ้างทำของ ถือเป็นสัญญาต่างตอบแทน
เรียกง่าย ๆ ก็คือ ทางผู้รับจ้างจะต้องทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จลุล่วงให้แก่ผู้ว่าจ้าง โดยทางผู้ว่าจ้างจะต้องให้สินจ้างเพื่อผลงานนั้น โดยสินจ้างสามารถใช้ได้ทั้งเป็นเงินตราหรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ ขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง
2. เป็นสัญญาที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานที่ทำเป็นหลัก
อย่างที่เราอธิบายไปในข้างต้นว่า สัญญาจ้างทำของ เป็นสัญญาที่เน้นผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ นั่นหมายความว่า ไม่ได้ต้องการแรงงานในการจัดทำของหรืองานนั้น ๆ เพราะฉะนั้น นายจ้างจึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างเหมือนกับสัญญาจ้างแรงงาน และผู้รับจ้างเองก็มีอิสระในการทำงานมากกว่า เนื่องจากไม่ได้อยู่ภายใต้บัญชาของผู้ว่าจ้าง ดังนั้น จึงเป็นสัญญาที่ตอบโจทย์นายจ้างที่ต้องการให้ผู้ว่าจ้างทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น โดยไม่มีภาระงานอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น สัมภาระหรือเครื่องมือในการทำงาน
3. เป็นสัญญาที่ไม่มีแบบ ขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งสองฝ่าย
หมายความว่า ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างสามารถตกลงกันได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร อยากจะจัดทำสัญญาจ้างทำของแบบไหน เพื่อให้เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย หรือจะตกลงกันด้วยวาจาก็สามารถทำได้ เพราะถือว่ามีผลต่อการฟ้องร้องบังคับคดีเช่นกัน โดยที่ไม่ต้องมีหลักฐานเหมือนกับสัญญาจ้างอื่น ๆ จึงทำให้สัญญาจ้างทำของ ไม่มีตัวอย่างที่ตายตัวเหมือนกับสัญญาจ้างงาน หรือเอกสารทางธุรกิจชนิดอื่น ๆ แต่สามารถร่างสัญญาขึ้นมาพร้อมระบุข้อตกลงร่วมกันได้ เช่น การจัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการดำเนินงาน รวมถึงการนำหลักประกันมามอบให้กับทางผู้ว่าจ้าง เป็นต้น
ข้อผูกพันทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัญญาจ้างทำของ
สำหรับสัญญาจ้างทำของ ยังมีข้อกฎหมายในมาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่นกัน ซึ่งทาง SMEMOVE จะมาสรุปให้ดูกันแบบง่าย ๆ เพื่อให้เข้าใจสัญญาชนิดนี้ให้มากขึ้น
- มาตรา 588 ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาเครื่องมือที่ใช้ทำงาน
- มาตรา 589 หากสัมภาระนั้นผู้รับจ้างเป็นผู้หา ต้องจัดหาชนิดที่ดี
- มาตรา 590 หากสัมภาระผู้ว่าจ้างเป็นผู้จัดหามาส่ง ผู้รับจ้างต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง หากหลือให้คืนแก่ผู้ว่าจ้าง
- มาตรา 591 หากความชำรุดบกพร่องหรือเกิดความชักช้า จากสภาพแห่งสัมภาระ ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิด เว้นแต่จะรู้แล้วไม่ได้ตักเตือนไปยังผู้ว่าจ้าง
- มาตรา 592 ผู้รับจ้างต้องยินยอมให้ผู้ว่าจ้างหรือตัวแทนเข้ามาตรวจตรางานได้ตลอดเวลา
- มาตรา 593 หากผู้รับจ้างไม่เริ่มทำการในเวลาอันควร หรือชักช้าฝ่าฝืนข้อกำหนดแห่งสัญญา จนทำให้งานไม่สำเร็จตามกำหนดเวลา ผู้ว่าจ้างสามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที
- ฯลฯ
ทั้งนี้ อายุความคดีจ้างทำของ หากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจะมีอายุความ 2 ปี และการฟ้องร้องดำเนินคดี เพื่อให้ผู้รับจ้างผิดในความชำรุดบกพร่อง ต้องฟ้องร้องภายใน 1 ปี นับจากวันที่ความชำรุดบกพร่องนั้น ๆ เกิดขึ้น
สาระน่ารู้! ความแตกต่างระหว่าง สัญญาจ้างทั่วไป กับสัญญาจ้างทำของ
จะเห็นได้เลยว่า สัญญาจ้างทำของ ถือเป็นสัญญาจ้างที่ค่อนข้างอิสระและให้ความสำคัญกับผลสำเร็จของงานเป็นหลัก แต่เชื่อว่าบางคนอาจจะสงสัยอยู่ว่าระหว่าง สัญญาจ้างทั่วไป กับสัญญาจ้างทำของ หากเทียบกันแล้วมีความแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
- สัญญาจ้างทั่วไป มุ่งเน้นโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน
- สัญญาจ้างทำของ มุ่งเน้นผลสำเร็จของงาน
ยกตัวอย่าง หากบริษัท A รับทำสินค้าให้กับบริษัท B โดยสินค้านั้นจะไม่มีการวางจำหน่ายเป็นการทั่วไป กรณีนี้จะต้องใช้ “สัญญาจ้างทำของ” เพราะเป็นการมุ่งหวังผลสำเร็จของงาน และผู้ว่าจ้างหรือบริษัท B ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3
Tips: ในการสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา เจ้าของลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นจากสัญญาจ้างทำของ จะตกเป็นของผู้ว่าจ้างทันที เนื่องจากเป็นการนำผลสำเร็จของงานนั้นไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เว้นแต่ว่าจะมีการตกลงกันนอกเหนือจากนี้
จะเห็นได้เลยว่า สัญญาจ้างทำของ ก็คือสัญญาว่าจ้างชนิดหนึ่งที่ถูกทำขึ้นมาเพื่อเป็นข้อตกลงกันระหว่างผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง โดยยึดผลสำเร็จของงานเป็นหลัก โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีความผูกพันกันในแง่ของการรับผิดร่วมเหมือนสัญญาจ้างแรงงาน หรือแม้แต่สัญญาบริการในรูปแบบอื่น ๆ และผู้ที่เป็นนายจ้างเองก็ไม่มีอำนาจในการสั่งการอื่นใดนอกเหนือจากที่ตกลงกัน จึงทำให้มีความอิสระในการทำงานที่มากกว่านั่นเอง
ทั้งนี้ หากนักบัญชีหรือเจ้าของธุรกิจท่านใด ที่อยากจะศึกษาเอกสารทางธุรกิจแบบง่าย ๆ สามารถเข้ามาทดลองใช้ โปรแกรมบัญชีออนไลน์ SMEMOVE ได้แล้ววันนี้
ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE
คู่มือการใช้งาน : HELP
ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่
บทความบัญชี: smemove.com/blog
Facebook: Facebook.com/smemove.th
Youtube: SMEMOVE