การใช้รถบริษัท มีประเด็นทางภาษี และการจัดการ เรื่อง “รถที่ใช้ในบริษัท” ยังไง

By posted on December 2, 2024 9:14AM
การใช้รถบริษัท มีประเด็นทางภาษี และการจัดการ เรื่อง “รถที่ใช้ในบริษัท” ยังไง

เรื่องยอดฮิตที่ทำให้คนทำกิจการ หรือผู้ประกอบการต้องปวดหัว ก็คงหนีไม่พ้นเรื่อง รถบริษัท หรือ รถที่ใช้ในบริษัท โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์ หรือรถชนิดต่าง ๆ ด้วย เพราะนอกจากจะมีค่าน้ำมัน ค่าเสื่อม ค่าบำรุงรักษา หรือค่าซ่อมรถแล้ว ยังมีประเด็นทางภาษีที่ต้องให้ความสำคัญด้วย เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายภายในองค์กร แต่บางกรณีทางกฎหมายก็ระบุอย่างชัดเจนว่าจะใช้สิทธิ์ภาษีซื้อไม่ได้ เพราะฉะนั้น เรามาดูกันว่าหากมีรถที่ใช้ในบริษัท หรือซื้อรถในนามบริษัท มีอะไรบ้างที่ควรรู้ มีการคำนวณภาษีรถยนต์ และรถชนิดต่าง ๆ อย่างไรบ้าง

ประเภทของรถบริษัท และการใช้รถตามความหมายของกรมสรรพากร

ประเภทของรถบริษัท และการใช้รถตามความหมายของกรมสรรพากร

การใช้รถบริษัท หรือว่าการใช้รถในธุรกิจ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 42) ข้อ 2(1) สามารถจำแนกการใช้รถตามความหมายของกรมสรรพากรเอาได้ 4 กลุ่ม คือ

1. รถส่วนตัว

ในการใช้รถส่วนตัวยังไม่ต้องคำนึงว่าใช้รถอะไร แต่ให้มุ่งเน้นไปว่า รถที่ใช้นั้นใช้เพื่อกิจการหรือไม่ หากเป็นการใช้เพื่อกิจการ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องจะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ และเป็นค่าใช้จ่ายไม่ต้องห้าม ตามมาตรา 65 ตรี (3) (13) แห่งประมวลรัษฎากร

2. รถจักรยานยนต์

โดยบริษัทจะต้องมีชื่อเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์อย่างชัดเจน หรือก็คือการซื้อรถในนามบริษัทอย่างถูกต้อง จึงจะถือว่าเป็นการใช้เพื่อกิจการ และสามารถบันทึกบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้

3. รถยนต์ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง

หรือก็คือรถกลุ่ม Sedan และ SUV ที่เราพบเจอกันบ่อยมาก ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งตามมุมมองของทางกรมสรรพากรแล้ว ก็มองว่ารถยนต์นั่งกลุ่มนี้ใช้งานกับกิจการได้ไม่ครอบคลุม เมื่อเทียบเท่ากับรถกระบะ รถตู้ หรือว่ารถบรรทุก

4. รถยนต์ที่มีที่นั่งเกิน 10 ที่นั่ง

ถือว่าเป็นรถที่มีไว้เพื่อการประกอบกิจการโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น รถกระบะ รถตู้ และรถบรรทุก โดยในกลุ่มนี้ทางสรรพากรจะเน้นไปที่อัตราภาษีสรรพสามิต 06.01 และ 06.02 เป็นหลัก

ประเภทรถที่ใช้ในบริษัท ที่ขอคืนหรือหักภาษีขายได้

ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีนิติบุคคล สำหรับรถที่ใช้ในบริษัท

จะเห็นได้เลยว่า รถแต่ละชนิดที่ใช้ในกิจการนั้น ก็จะมุมมองการใช้งานที่ต่างกันออกไป ซึ่งการใช้รถที่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษี ไม่ว่าจะเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) และ ภาษีนิติบุคคล โดยหลัก ๆ แล้วจะมีค่าน้ำมัน และค่าซ่อมบำรุง แต่ในแง่ของภาษีและการลงรายจ่ายที่เกี่ยวกับรถบริษัท สามารถบริหารจัดการเรื่องภาษีและรายจ่ายได้ง่าย ๆ ดังนี้

1. รถยนต์นั่งทั่วไป มีที่นั่งไม่เกิน 10 ที่

  • อาทิ รถเก๋ง รถซุปเปอร์คาร์ รถมินิแวน และ SUV
  • หากเช่าในกิจการสามารถนำมาลงรายจ่ายได้ตามจริง (ไม่เกิน 36,000 บาท/เดือน) ตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 315) พ.ศ. 2540
  • หากซื้อรถในนามกิจการ สามารถลงรายจ่ายได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยการหักค่าเสื่อม
  • ไม่สามารถใช้สิทธิ์ภาษีซื้อได้ สำหรับรถยนต์นั่งทุกชนิด ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง
  • ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการโดยตรง และสามารถพิสูจน์ได้ ถือเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการ เช่น มีบิลค่าซ่อมรถยนต์ หรือการตรวจเช็กสภาพรถที่ใช้ในกิจการ เป็นต้น

2. รถจักรยานยนต์ รถกระบะ และรถยนต์นั่งที่มีที่นั่งเกิน 10 ที่

  • ครอบคลุมทั้งรถจักรยานยนต์ รถกระบะ รถตู้ รถบัส รถบรรทุก และรถที่มีที่นั่งเกิน 10 ที่นั่งทุกแบบ
  • หากเป็นการเช่าสามารถนำค่าเช่ามาลงเป็นรายจ่ายได้เต็มจำนวน เพราะถือเป็นการใช้เพื่อกิจการโดยตรง
  • หากเป็นการซื้อรถในนามกิจการ สามารถลงรายจ่ายได้เต็มจำนวน โดยการหักค่าเสื่อม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 45) พ.ศ. 2527
  • นอกจากจะใช้ลงรายจ่ายได้แบบเต็มจำนวนแล้ว ยังสามารถใช้สิทธิ์ภาษีซื้อได้เช่นกัน แต่ต้องมี “ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ”

สังเกตได้ง่าย ๆ คือ หากรถที่ใช้มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการ จะถือว่าเป็นรายจ่ายไม่ต้องห้ามทั้งหมด แค่ต้องมีเอกสารและหลักฐานที่พิสูจน์ได้ เช่น มีบิลค่าซ่อมรถยนต์ หรือบิลค่าน้ำมัน ก็สามารถลงรายจ่ายได้ทั้งหมด ครอบคลุมทั้งการเช่ารถใช้ในบริษัทและการซื้อรถในนามบริษัท ส่วนภาษีซื้อจะใช้สิทธิ์ได้ก็ต่อเมื่อไม่ใช่รถที่มีที่นั่งน้อยกว่า 10 ที่นั่ง นั่นเอง

นอกจากนี้ ก็ต้องดูด้วยว่ารถที่ใช้ในบริษัท เป็นรถของพนักงานหรือว่าเป็นรถที่บริษัทซื้อมาใช้ในกิจการ ซึ่งทาง SMEMOVE สรุปมาให้ดูแบบง่าย ๆ กันแล้ว ว่าหากเป็นรถของพนักงานจะมีระเบียบการเบิกจ่ายอย่างไรบ้าง เพื่อความเข้าใจที่ง่ายมากขึ้น ดังนี้

การพิจารณาค่าใช้จ่ายทางภาษี ของรถที่ใช้ในบริษัท

การใช้สิทธิทางภาษีของกิจการที่ใช้รถบริษัท

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

การใช้สิทธิ์เคลม VAT 7% หรือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องเช็กว่ารถที่ใช้เป็นรถประเภทใด ซึ่งหากเป็นรถยนต์ของพนักงาน หรือรถยนต์ที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 ที่นั่ง เช่น รถเก๋ง รถ SUV จะไม่สามารถเคลม VAT ได้

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ค่าใช้จ่ายในการใช้รถบริษัทที่เกี่ยวข้องกับกิจการโดยตรง สามารถพิสูจน์ได้อย่างตรงไปตรงมา จะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายไม่ต้องห้ามมาตรา 65 ตรี (3) (13) โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นรถประเภทใด เช่น หากใช้รถเก๋ง 4 ประตู ในการเดินทางไปติดต่องาน ก็สามารถนำค่าน้ำมันหรือค่าซ่อมบำรุงมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ เป็นต้น

ซื้อรถในนามบริษัท ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

หากกิจการใดที่ต้องการซื้อรถในนามบริษัท จะต้องเป็นรถที่เอาไปใช้ในการดำเนินกิจการจริง ๆ ไม่ใช่ซื้อมาแล้วนำไปใช้ส่วนตัว เช่น ซื้อรถในนามนิติบุคค แต่กรรมการบริษัทนำไปใช้ส่วนตัว หรือว่าไม่ได้ใช้ในกิจธุระที่เกี่ยวข้องกับกิจการ โดยหลักเกณฑ์ของการซื้อรถมาใช้ในนามบริษัท ด้านการเงินจะสามารถหักค่าเสื่อมได้ไม่เกินปีละ 200,000 บาท โดยที่ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของรถบริษัท จะถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายไม่ต้องห้าม เพียงแค่เป็นการใช้รถเพื่อกิจการเท่านั้น

ทั้งนี้ หากบริษัทใดที่ต้องการซื้อรถมาไว้ใช้ในกิจการ จะต้องมีเอกสารที่ใช้ในการซื้อรถบริษัทโดยคร่าว ๆ ดังนี้

  • หนังสือรับรองบริษัท ที่ออกโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  • ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 20) โดยเฉพาะธุรกิจที่มีการจดทะเบียน VAT แล้ว ต้องใช้เพื่อยืนยันด้านธุรกรรม
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน (อาจจะต้องสอบถามทางตัวแทนจำหน่ายรถอีกครั้ง) เช่น สำเนาบัตรประชาชนพร้อมใบมอบอำนาจจากกรรมการบริษัท ฯลฯ
  • เอกสารด้านการเงิน โดยจะใช้สำหรับการยืนยันงบการเงินของบริษัท โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ได้ซื้อรถด้วยเงินสด จะต้องมีเอกสารด้านการเงินย้อนหลังอย่างต่ำ 6 เดือน

การใช้รถบริษัท และการซื้อรถในนามบริษัท

สรุป

จะเห็นได้เลยว่า การใช้รถบริษัท ไม่ว่าจะเป็น การซื้อรถในนามบริษัทเพื่อนำมาใช้งาน หรือว่าการเช่ารถเพื่อนำมาใช้ ก็จะมีการจัดการภาษีแต่ละแบบที่ต่างกัน โดยเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่จะต้องบันทึกบัญชีและลงค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการโดยตรง ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้รถประเภทใดในบริษัทก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การเลือกใช้รถให้ถูกประเภทเท่านั้น เพื่อให้สามารถใช้สิทธิ์ทางภาษีได้อย่างครอบคลุมนั่นเอง

ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE

คู่มือการใช้งาน : HELP

ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่

บทความบัญชี: smemove.com/blog

Facebook: Facebook.com/smemove.th

Youtube: SMEMOVE