สำหรับนักบัญชีมือใหม่ หรือใครที่กำลังศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับการทำบัญชีอยู่ในบางครั้งก็จำเป็นจะต้องหาความรู้ หรือข้อมูลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยตัวเองเช่นเดียวกับเรื่องราวของภ.พ.36 ที่นักบัญชีมือใหม่หลายๆ คนอาจไม่คุ้นเคย หรือรู้จักกับภ.พ.36 มากนัก ดังนั้นในวันนี้ SMEMOVE จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับภ.พ.36 ว่าคืออะไร แล้วใครกันที่มีหน้าที่ยื่นแบบภ.พ.36 ต่อกรมสรรพากร
ภ.พ.36 คืออะไร
ภ.พ. 36 คือแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีความพิเศษเนื่องจากผู้จ่ายค่าสินค้า หรือบริการจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่ในการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มแทน เพราะผู้ขายหรือผู้ให้บริการไม่ได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย ที่มีความสำคัญในด้านการทำธุรกิจอยู่มากเพราะมีผู้ประกอบการหลายคนมักโดนการประเมินภาษีย้อนหลังจากการไม่ได้ยื่นแบบ ภ.พ. 36 เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็มาจากความไม่รู้จึงไม่ได้จัดทำการยื่นภาษีในส่วนนี้ให้เรียบร้อย
หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้วยังไม่เข้าใจว่าภ.พ. 36 คืออะไรแล้วกิจการของตัวเองต้องนำส่งตอนไหนยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อบริษัทของคุณมีการทำโฆษณาผ่าน Facebook ทางบริษัทก็มีหน้าที่ในการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแทน Facebook ด้วยแบบ ภ.พ. 36 หากไม่มีการนำส่งภาษีในส่วนนี้ เมื่อเกิดการตรวจสอบย้อนหลังจากกรมสรรพากรทางบริษัทก็จะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง
ใครมีหน้าที่ในการยื่นแบบภ.พ. 36 และการยื่นต้องทำอย่างไร ที่ไหน เมื่อไหร่?
– ผู้จ่ายเงินที่ทำการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรที่ได้เข้ามาประกอบการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราว หรือผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ หรือได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร และผู้ประกอบการอื่นตามที่กําหนด โดยพระราชกฤษฎีกา แต่ในปัจจุบันยังไม่ได้ถูกกําหนด
– ผู้รับโอนสินค้าหรือผู้รับโอนสิทธิในการให้บริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ได้แก่การรับโอนสินค้า หรือรับโอนสิทธิในบริการที่ได้มีการขาย หรือการให้บริการกับองค์การสหประชาชาติ ทบวงการชํานัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุลทั้งนี้ เฉพาะการขายสินค้า หรือการให้บริการดังกล่าวที่เป็นไปตาม หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกําหนด
– ผู้ทอดตลาดซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการ จดทะเบียนหรือส่วนราชการ ซึ่งขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ถูกยึดมาตามกฎหมายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาด
กำหนดเวลาในการยื่นแบบภ.พ. 36 และสถานที่ในการยื่นนําส่งเงินภาษีสามารถทำได้ ณ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ในท้องที่ที่ใกล้เคียง หรือภูมิลําเนาของผู้นำส่ง โดยมีกำหนดว่าจะต้องไม่เกินวันที่ 7 ของเดือนถัดไป หลังมีการจ่ายชำระค่าสินค้าหรือบริการ โดยมีการคำนวณดังนี้
– จํานวนเงินที่จ่าย ให้กรอกจํานวนเงินที่จ่ายจริง หรือราคาขายทอดตลาดแล้วแต่กรณีที่จํานวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มต้องถูกนําส่ง ให้กรอกจํานวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนําส่ง
– หากเกินกำหนดในการยื่นภาษีผู้ยื่นส่งภาษีจะต้องคํานวณ และชําระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องนําส่งทั้งนี้ ให้คํานวณ เงินเพิ่มเป็นรายเดือนนับแต่วันพ้นกําหนดเวลายื่นแบบภ.พ.36 นําส่ง ภาษีของเดือนภาษีนั้น จนถึงวันยื่นแบบภ.พ.36 และนําส่งภาษี
– เบี้ยปรับ (ถ้ามี) กรณีผู้รับโอนสินค้าหรือผู้รับโอนสิทธิในบริการนําส่งภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้ทำการยื่นแบบภ.พ.36 ภายในระยะเวลาที่กําหนด ทางผู้ยื่นจ่ายภาษีจะต้องทำการคํานวณ และชําระเบี้ยปรับอีก 1 เท่า หรือ 2 เท่า ของเงินภาษีแล้วแต่กรณี แต่ทั้งนี้เบี้ยปรับดังกล่าวอาจขอลดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกําหนด ให้กรอกจํานวนที่ขอลดได้แล้วตามระเบียบฯ
– รวมภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนําส่ง เงินเพิ่ม และเบี้ยปรับ (หากมี) ให้กรอกจํานวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องนําส่งตาม เงินเพิ่มตาม และเบี้ยปรับ (ถ้ามี) และให้ผู้นำส่งภาษีลงลายมือชื่อ หากเป็นนิติบุคคลให้ประทับตรา นิติบุคคล (ถ้ามี) ด้วย พร้อมทั้งกรอกวันเดือนปีที่ยื่นแบบฯ
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับความรู้ดีๆ เกี่ยวกับภ.พ.36 ที่ SMEMOVE ได้นำมาฝากในวันนี้ หากใครที่กำลังดำเนินกิจการแล้วมีการซื้อสินค้า หรือบริการที่เข้าข่ายตามที่ได้อ่านมาก็อย่าลืมไปจัดการเรื่องการนำส่ง และชำระภาษีภ.พ.36 ให้เรียบร้อยนะคะเพราะหากโดนตรวจสอบแล้วถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังก็อาจจะกลายเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอยู่ไม่น้อย
ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE
คู่มือการใช้งาน : HELP
ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่
บทความบัญชี: smemove.com/blog
Facebook: Facebook.com/smemove.th
Youtube: SMEMOVE