เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 จะไปได้อีกแค่ไหน หลังไวรัสโควิด-19 ทำการท่องเที่ยว และส่งออกไทยอ่วม

By posted on February 28, 2020 5:23PM

เมื่อพูดถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน หลายคนคงจะทราบแล้วว่าตอนนี้เรากำลังประสบกับปัญหาวิกฤตจากไวรัสโควิด-19 ที่ถือได้ว่าเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยว และส่งออก ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายธนาคารก็ได้คาดการณ์ไว้ว่าผลกระทบที่เลวร้ายที่สุดจากไวรัสโควิด-19 จะอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

การคาดการณ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยว และส่งออกของไทยกำลังอยู่ในช่วงหดตัว ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจปีนี้มีการเติบโตได้เพียง 1.3% จากที่เคยคาดว่าจะโตได้ถึง 2.8% และในส่วนของกระทรวงท่องเที่ยว และกีฬาคาดว่าประเทศจะสูญรายได้จากนักท่องเที่ยวไปถึง 2.5 แสนล้านบาทในปีนี้ ซึ่งแน่นอนว่าผลกระทบจากโควิด-19 นั้นกำลังรุนแรงขึ้นทั้งในจีน และภูมิภาคอื่นๆ ที่พบผู้ติดเชื้อ

จากรายงานวิจัยประจำเดือน กุมภาพันธ์ ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา เรื่อง “Coronavirus Outbreak: Impact on Thai Economy” คาดว่า การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวจะถึงจุดสูงสุดในเดือนมีนาคม และจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคมปีนี้ และนักวิเคราะห์จากสำนักวิจัยกรุงศรียังระบุไว้อีกว่า แม้การระบาดของโรคจะแพร่กระจายเป็นวงกว้าง แต่อัตราการเสียชีวิตถือว่าไม่รุนแรงหากเทียบกับโรคซาร์ส หรือเมอร์ส ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเจ็บปวด การตายคาดว่าจะเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ทำให้จีดีพีไทยจะลดลง 0.44% จากประมาณการเดิม

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า หากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยาวนานเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 6 เดือน เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ราว 1% และอาจจะย่อตัวลงไปที่อัตราการเติบโตที่ 4.7% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนคิดเป็นมูลค่าราว 2.4-3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ผลกระทบอาจอยู่ในระดับปานกลาง ความเสียหายอาจจะอยู่ในระดับ 500-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.56 – 2.18 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.09-0.13% ของจีดีพี ทั้งปีของไทย

ผลกระทบจากโควิด-19 รัฐคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวจีนหายไป 5 ล้านคนทั้งปี

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหาภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาแถลงไว้ว่าในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 นี้อย่างมาก จากข้อมูลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไป 5 ล้านคน และรายได้หายไปราว 2.5 แสนล้านบาท และธนาคารแห่งประเทศไทยให้ตัวเลขว่า เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) มีมูลค่าราว 16 ล้านล้านบาท หากรายได้จากการท่องเที่ยวหายไป 2.5 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 1.5% ของจีดีพี ซึ่งจะทำให้ตัวเลขจีดีพีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมองไว้ในช่วงปลายปี 2562 ว่าจีดีพีปี 2563 จะโตได้ที่ 2.8% ก็จะลดลงเหลือโตเพียง 1.3% เท่านั้น

ความสำคัญของนักท่องเที่ยวจีนต่อเศรษฐกิจไทย

นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา นักท่องเที่ยวจากจีนก็มีการหลั่งไหลมาเที่ยวในไทยเป็นจำนวนมาก และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวทะลุ 1 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก ซึ่งรายได้ในส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดจากต่างประเทศ และในเวลาต่อมานักท่องเที่ยวจากจีนก็กลายเป็นแหล่งรายได้หลักของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย โดยปีที่แล้วนักท่องเที่ยวจากจีนได้เข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากถึง 10.9 ล้านคน สร้างรายได้ในการท่องเที่ยวกว่า 5.43 แสนล้านบาท คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ตามข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ผลกระทบในวงกว้างจากไวรัสโควิด-19 ต่อการส่งออก และผู้ประกอบการในไทย

อย่างที่เราได้บอกไปข้างต้นว่าผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 นั้นมีผลต่อการท่องเที่ยว และส่งออก หากจะให้พูดถึงผลกระทบในการส่งออกไทยนั้นอยู่ในกลุ่มที่มีสัดส่วนการพึ่งพาจากจีนอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ ในประเทศอาเซียน แต่ภาคการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบสูงสุดด้วยมูลค่าราว 300 – 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูลจาก: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)

ในส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวผู้ที่ได้รับผลกระทบในประเทศไทยนั้นถือได้ว่ากระจายออกไปอย่างเป็นวงกว้างทุกระดับทั้งผู้ค้าขาย โรงแรม ร้านอาหาร พ่อค้า แม่ค้า ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมไป ล้วนได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะจำนวนของเหล่านักท่องเที่ยวนั้นลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด

มาตรการการรับมือไวรัสโควิด-19 ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.63 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวฯ ได้กล่าวถึงสถานการณ์เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ว่าสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 มีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างมากในด้านของการท่องเที่ยว และยังได้กล่าวต่ออีกว่าขณะนี้ประเทศไทยได้มีการคัดกรองโรคเป็นอย่างดี ทั้งนี้ขอให้คนไทยมีความเชื่อมั่น และสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวว่าขณะนี้คนทั่วโลกมีความเชื่อมั่นในความสามารถ และระบบสาธารณสุขของไทยเป็นอย่างดีอย่างดี

แม้ว่าในครึ่งปีแรกไวรัสโควิด-19 จะสร้างความเสียหายต่อการท่องเที่ยวไปมากมาย แต่มั่นใจว่าในช่วงครึ่งปีหลังหรือประมาณ หลังเทศกาลสงกรานต์ สถานการณ์ของโรคระบาดดังกล่าวจะเข้าสู่ภาวะปกติ เนื่องจากเข้าสู่ฤดูร้อนที่เชื้อไวรัสไม่อาจทนทานต่อสภาพอากาศได้นาน สถานการณ์ก็จะบรรเทาเบาบางไปโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีอากาศร้อนในช่วงดังกล่าว

และนอกจากนี้นายพิพัฒน์ยังได้กล่าวเสริมอีกว่าสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้รัฐบาลเตรียมออกมาตรการทางการเงิน เพื่อให้ช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการทั้งผู้ค้าขาย โรงแรม ร้านอาหาร พ่อค้า แม่ค้า แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ โดยทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็ได้เสนอมาตรการเพื่อขอ งบกลาง ที่จะใช้ในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งระบบ โดยจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป คาดว่าหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะสามารถดำเนินการได้

ส่วนทางด้านกระทรวงสาธารณสุขที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมากล่าวถึงเรื่องราวของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2563 ได้กล่าวไว้ว่าสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 ยังไม่พบการระบาดในประเทศ แต่แนวโน้มการระบาดในประเทศต่างๆ มีมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการระบาดของประเทศไทย

จึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ให้เพิ่มโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) เป็นโรคติดต่ออันตรายภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ลำดับที่ 14 เพื่อให้สามารถใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค

พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า “ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก การประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่ออันตรายครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าไทยควบคุมโรคไม่ได้จนเข้าสู่ระยะที่ 3 แต่มาตรการที่เราทำอยู่เป็นการทำงานเชิงรุก ล่วงหน้ามากกว่าสถานการณ์จริงไปอีกขั้นหนึ่ง ที่สำคัญจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้าควบคุมโรคได้ทันท่วงที ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่กระจายในวงกว้าง เช่นที่เกิดในบางประเทศ” (ข้อมูลจาก: สพว.FM91)

ทั้งนี้สถานการณ์เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง ก็ยังคงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำการติดตามไปอย่างต่อเนื่อง ว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมาตรการใดออกมาใหม่เพื่อดูแลเศรษฐกิจ และสุขภาพของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น

ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่

บทความบัญชี: smemove.com/blog

Facebook: Facebook.com/smemove.th

Youtube: SMEMOVE