ก่อนจะดีเดย์ปลายปี 2567 ผู้ที่มีเงินได้ทุกคนต้องอย่าลืมว่า ต้องเตรียมตัวยื่นภาษีเงินได้ส่วนบุคคลธรรมดาในช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้ โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี ก็ต้องเตรียมความพร้อมว่ามี รายการลดหย่อนภาษี 2567 รายการไหนบ้าง ที่สามารถใช้ในการลดหย่อนได้ แล้วแต่ละหมวดหมู่ สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงสุดเท่าไหร่บ้าง เพราะฉะนั้น มาดูกันว่ารายการลดหย่อนภาษี 2567 ตามระเบียบของกรมสรรพากรนั้น มีรายการไหนบ้าง แล้วมีมาตรการไหนที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เพื่อใช้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ในช่วงต้นปี 2568 นี้
รู้จัก “รายการลดหย่อนภาษี” คืออะไร?
คำว่า “รายการลดหย่อนภาษี” เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ค่าลดหย่อนภาษี” ที่ทางกฎหมายสามารถนำไปใช้ประกอบการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ โดยรายการลดหย่อนภาษีนั้น นอกจากจะช่วยแบ่งเบาภารด้านภาษีให้กับผู้เสียภาษีได้แล้ว ยังสามารถสร้างประโยชน์ต่อผู้ที่มีเงินได้ในหลาย ๆ มุม เช่น มีวินัยในการออมเงินมากขึ้น จากการสมทบเงินเข้ากองทุนต่าง ๆ ที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
ทั้งนี้ สิทธิในการลดหย่อนภาษี ปี 2567 นั้น ก็มีหลากหลายหมวดให้เลือก ไม่ว่าจะเป็น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนจากเงินบริจาค ค่าลดหย่อนจากการเข้าร่วมมาตรการต่าง ๆ ที่ทางรัฐกำหนด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ หากซื้อบ้านก็สามารถนำดอกเบี้ยบ้านมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ หรือโครงการช้อปดีมีคืน และ โครงการ Easy e-Receipt เป็นต้น
สรุป รายการลดหย่อนภาษี 2567 ของผู้มีเงินได้
สำหรับ รายการลดหย่อนภาษี ปี 2567 ที่สามารถนำไปใช้ประกอบการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในต้นปี 2568 นั้น ผู้ที่มีเงินได้สามารถลดหย่อนได้หลายรายการ ตามเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ทางสรรพากรกำหนด โดยแบ่งเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้
1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้สามารถนำไปใช้ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท/ปี ครอบคลุมทั้งการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส ใช้สิทธิได้ 60,000 บาท แต่ต้องเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเลือกยื่นได้เพียงแค่ 1 คนเท่านั้น โดยคู่สมรสฝ่ายหนึ่งต้องไม่มีรายได้ หรือเป็นผู้ไม่มีเงินได้ แต่หากมีต้องยื่นภาษีรวมกันแล้วค่อยใช้สิทธิลดหย่อน
- ค่าลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท (อายุไม่เกิน 20 ปี หากเกินต้องศึกษาในระดับ ปวส. ขึ้นไป)
- หากมีการฝากครรภ์หรือคลอดบุตร สามารถใช้สิทธิได้ตามที่จ่ายจริง และไม่เกิน 60,000 บาท
- ค่าลดหย่อนบิดาและมารดา ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาท/คน ซึ่งสิทธินี้ครอบคลุมบิดาและมารดาของคู่สมรสด้วย
- ค่าลดหย่อนกรณีที่อุปภาระผู้พิการหรือบุคคลทุพพลภาพ ใช้สิทธิได้คนละ 60,000 บาท (มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท)
หมายเหตุ : หากใช้สิทธิลดหย่อนพ่อแม่ของตัวเอง รวมกับพ่อแม่ของคู่สมรสด้วย จะได้รับสิทธิลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท
2. ค่าลดหย่อนกลุ่มการออม การลงทุน และประกัน
- เงินประกันสังคม ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 9,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ต้องมีกรมธรรม์ที่คุ้มครองระยะเวลาเกิน 10 ปีขึ้นไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
- เบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุ ลดหย่อนได้สูงสุด 25,000 บาท (เมื่อรวมกับประกันตัวอื่น ๆ เช่น ประกันชีวิต ลดหย่อนรวมทั้งหมดไม่เกิน 100,000 บาท)
- เบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ใช้สิทธิ์ได้ไม่เกิน 15,000 บาท
- เงินลงทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม Social Enterprise ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 100,000
- กองทุน Thai ESG หรือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยุ่งยืน ลดหย่อนภาษีปี 2567 ได้ 30% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 300,000 บาท
- กองทุน RMF และ SSF สามารถลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง
- กองทุนกำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.) ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 30,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ เช่น กลุ่มผู้ประกอบอาชีพฟรีแลนซ์ หรือค้าขาย ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 30,000 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ตามที่จ่ายจริง และไม่เกิน 200,000 บาท
หมายเหตุ : กองทุน RMF, SSF และกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ เช่น PVD และ กองทุนการออมแห่งชาติ เมื่อรวมกันแล้วสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 500,000 บาท
3. ค่าลดหย่อนกลุ่มเงินบริจาค
- เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายกลุ่มอื่น ๆ
- เงินบริจาคเพื่อการศึกษา และประโยชน์สาธารณะ ลดหย่อนได้ถึง 2 เท่า ของเงินที่บริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลักหักค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มอื่น ๆ
- เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 10,000 บาท
4. ค่าลดหย่อนกลุ่มกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
- ดอกเบี้ยบ้านและที่อยู่อาศัย สามารถนำไปลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 100,000 บาท
- Easy e-Receipt ในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา สำหรับลูกค้าที่ซื้อสินค้าและบริการช่วงวันที่ 1 ม.ค. – 15 ก.พ. 2567 ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุด 50,000 บาท
- โครงการเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาท
How – To วิธีคำนวณภาษีแบบง่าย ๆ
โดยปกติแล้วการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะใช้เกณฑ์การคำนวณภาษีจากรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย โดยจะนำรายได้ทั้งหมดมาหักลดหย่อนตามกลุ่มต่าง ๆ ที่มี เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ประกันสังคม โครงการต่าง ๆ ที่ใช้ได้ตามปีภาษีนั้น ๆ เช่น รายการลดหย่อนภาษีปี 2567 ก็มีโครงการ Easy e-Receipt แทนโครงการช้อปดีมีคืน ที่ใช้สำหรับการยื่นในปีภาษี 2566 (ยื่นช่วงต้นปี 2567) หลังจากนั้น ก็จะนำรายได้หลักหักค่าลดหย่อนแล้ว มาเทียบตามอัตราภาษีที่ต้องจ่าย โดยการจ่ายภาษีจะคิดแบบขั้นบันได เริ่มต้นเสียภาษีที่ 5% สูงสุด 35%
- รายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี
- รายได้ 150,001 – 300,000 บาท เสียภาษี 5%
- รายได้ 300,001 – 500,000 บาท เสียภาษี 10%
- รายได้ 500,001 – 750,000 บาท เสียภาษี 15%
- รายได้ 750,001 – 1,000,000 บาท เสียภาษี 20%
- รายได้ 1,000,001 – 2,000,000 บาทเสียภาษี 25%
- รายได้ 2,000,001 – 5,000,000 บาท เสียภาษี 30%
- รายได้ตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไป เสียภาษี 35%
ตัวอย่างการคำนวณ
นาย A มีรายได้จากงานประจำ เดือนละ 27,000 บาท โดยที่นาย A มีรายได้เสริมจากงาน Freelance หรือเป็น Outsource ให้กับบริษัทอื่น ๆ พร้อมหัก ณ ที่จ่าย รวมทั้งปีเป็นเงิน 50,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการซื้อประกันสุขภาพเพิ่มอีก 25,000 บาท จะมีวิธีการคิดดังนี้
- รายได้จากงานประจำ 27,000 x 12 = 324,000 บาท
- รวมกับรายได้จากงานฟรีแลนซ์ 324,000 + 50,000 = 374,000 บาท
- มีค่าลดหย่อน 3 รายการ คือ ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท กองทุนประกันสังคม 9,000 บาท, และประกันสุขภาพ 25,000 บาท
- เท่ากับว่า รายได้สุทธิหลักหักค่าใช้จ่าย คือ 374,000 – 60,000 – 9,000 – 25,000 = 280,000 บาท
- เพราะฉะนั้น นาย A จะมีรายได้สุทธิอยู่ที่ 280,000 บาท
หลังจากที่ได้รายได้สุทธิของนาย A แล้ว จะเห็นได้ว่า รายได้ของนาย A จะอยู่ระหว่างฐานภาษีคือ 5% วิธีคิดภาษีคือ (280,000 – 150,000) x 5% = 6,500 บาท ซึ่งเป็นภาษีของปี 2567 ที่นาย A จะต้องชำระ
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่าทุกครั้งที่บริษัทจ่ายเงินเดือน หรือการทำงานเป็น Freelance ที่มีใบ 50 ทวิ จะมีการหัก ณ ที่จ่าย เอาไว้ให้อยู่แล้ว เมื่อถึงเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่ละครั้ง ก็จะนำเงินที่เราต้องจ่ายภาษีในปีนั้น ๆ ไปลบออกจากการภาษีหัก ณ ที่จ่าย หลังจากนั้นจะเห็นว่าสุดท้ายแล้วต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกเท่าไหร่ หรือว่าสามารถขอคืนภาษีได้หรือไม่
อย่าลืม! ใช้สิทธิลดหย่อนให้ครบ เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี
จะเห็นได้เลยว่า รายการลดหย่อนภาษี ปี 2567 นี้ ก็มีหลายรายการมาก ๆ ที่น่าสนใจ ที่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีในการยื่นภาษีช่วงต้นปี 2568 นี้ได้ และการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแค่ต้องรู้ว่ามีรายได้จากทางไหนบ้าง มีรายการลดหย่อนรายการไหนที่สามารถใช้ได้ในปีภาษีนั้น ๆ
เพราะฉะนั้น หากไม่อยากเสียภาษีในจำนวนที่สูงจนเกินไป ก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในหมวดอื่น ๆ ได้ ก่อนถึงดีเดย์ปลายปี อาทิ โครงการท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษี 2567 ได้สูงสุดถึง 15,000 บาท (หมดเขต 30 พ.ย. 2567) หรือแม้แต่โครงการ e-Tax Invoice & e-Receipt นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมาก เช่น การลงทุนในกองทุนกลุ่ม RMF และ SSF หรือบางคนอาจจะเลือกลงทุนกับกองทุน Thai ESG ก็ได้เช่นกัน
ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE
คู่มือการใช้งาน : HELP
ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่
บทความบัญชี: smemove.com/blog
Facebook: Facebook.com/smemove.th
Youtube: SMEMOVE