ใบกำกับภาษี และ e-Tax Invoice มีความต่างกันอย่างไร แล้วใช้ในกรณีไหนบ้าง?

By posted on May 10, 2023 5:01PM
ใบกำกับภาษี และ e-Tax Invoice มีความต่างกันอย่างไร แล้วใช้ในกรณีไหนบ้าง?

โดยปกติแล้วคนทั่วไปจะคุ้นชินกับคำว่า “ใบกำกับภาษี” ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งเอกสารที่สำคัญ ที่เป็นหัวใจหลักของคนทำธุรกิจทุกคน โดยเฉพาะบริษัทหรือธุรกิจที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะฉะนั้น เราจะมาทำความรู้จักกับใบกำกับภาษีให้มากขึ้น รวมถึงบทบาทของ e-Tax Invoice ว่าทั้งสองชนิดนี้ต่างกันอย่างไร แล้วสำคัญแค่ไหนกับธุรกิจ

ใบกำกับภาษี (Tax Invoice)

ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) คืออะไร ทำไมคนทำธุรกิจควรรู้

ใบกำกับภาษี คือเอกสารสำคัญทางธุรกิจประเภทหนึ่ง ที่ผู้ขายหรือธุรกิจใด ๆ ที่ได้ทำการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และได้ทำการออกหลักฐานให้กับผู้ที่ใช้บริการทุกครั้ง ซึ่งใบกำกับภาษีจะแสดงข้อมูลของ มูลค่าของสินค้าและบริการ รวมถึงจำนวนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้เรียกเก็บ ซึ่งโดยปกติแล้วผู้ประกอบการจะเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% หรือก็คือ VAT 7% ที่เราเห็นกันบ่อย ๆ นั่นเอง

ทั้งนี้ ภาษีที่คิดจากราคาขาย หากเป็นผู้ให้บริการหรือผู้ขายสินค้า จะเรียกว่าภาษีนี้ว่า “ภาษีขาย” หรือก็คือ Output VAT แต่เราเป็นคนไปซื้อสินค้าและบริการนั้น ๆ แล้วมีการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเรียกว่าว่า “ภาษีซื้อ” หรือ Input VAT แทน

โดยใบกำกับภาษี จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป และใบกำกับภาษีอย่างย่อ หรือ Tax Invoice (ABB) โดยส่วนมากแล้วใบกำกับภาษีอย่างย่อ จะใช้สำหรับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีก ซึ่งโดยส่วนมากแล้วราคาสินค้าและบริการจะต้องระบุข้อความว่า “รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม” หรือ VAT INCLUDED จะต่างกับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ที่บอกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) คืออะไร ทำไมคนทำธุรกิจควรรู้

ใครบ้างที่ออกใบกำกับภาษีได้?

สำหรับผู้ที่ออกใบกำกับภาษีได้ ก็คือกิจการที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยทางผู้ประกอบการต้องดำเนินการ และขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับทางกรมสรรพากรภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ซึ่งการออกใบกำกับภาษี จะคำนวณจากภาษีขายแล้วหักด้วยภาษีซื้อ

ใบกำกับภาษี มีกี่ประเภท?

โดยทั่วไปแล้ว ทางกรมสรรพากรกำหนดให้ถือว่าเป็น “ใบกำกับภาษี” มีทั้งหมด 7 ประเภทหลัก ๆ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1. ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป
2. ใบกำกับภาษีอย่างย่อ
3. เอกสารอื่น ๆ ที่ถือว่าเป็นใบกำกับภาษี
• ใบเพิ่มหนี้
• ใบลดหนี้
• ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ในการขายทอดตลาด
• ใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร ที่ใช้สำหรับการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
• ใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร หรือกรมสรรพสามิต โดยนับเฉพาะส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม

ประเภทของใบกำกับภาษี

ทำความรู้จัก e-Tax Invoice หรือใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับ e-Tax Invoice หรือ ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ นั้น ก็คือใบกำกับภาษีที่ปรับจากรูปแบบกระดาษ ให้กลายเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีหน้าที่เหมือนกันกับใบกำกับภาษี แต่จะมีความแตกต่างกันก็คือ การระบุข้อมูลลงบนใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะต้องมีหมายเลขใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) และต้องมีลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) เพื่อใช้ยืนยันตัวตน และใช้รับรองความถูกต้องของข้อมูลทั้งหมด

ทำความรู้จัก e-Tax Invoice หรือใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

ข้อดีของการใช้ e-Tax Invoice ภายในองค์กรหรือธุรกิจ

อย่างที่เราอธิบายไปในข้างต้นว่า ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า e-Tax Invoice ก็คือใบกำกับภาษีในรูปแบบหนึ่ง เพียงแค่เปลี่ยนจากการออกเอกสารในรูปแบบกระดาษ ให้กลายมาเป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น โดยการใช้ e-Tax Invoice ยังมีข้อดีอื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น

• ช่วยลดภาระงานขององค์กรหรือธุรกิจในการจัดเก็บเอกสาร เพราะเมื่อมีการส่งข้อมูลภาษีซื้อ – ภาษีขาย ให้กับทางสรรพากร ก็สามารถทำการจัดทำรายงานโดยอัตโนมัติ (Electronic VAT Report) ได้ทันที
• ช่วยลดต้นทุนในการจัดทำเอกสาร หรือใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษ
• มีความสะดวกในการใช้งาน และประหยัดพื้นที่มากกว่า
• มีความถูกต้องของข้อมูล ไม่เสี่ยงต่อการปลอมแปลงเอกสาร เพราะมีหมายเลขรับรองและลายมือชื่อดิจิทัลประกอบด้วย

ข้อมูลสำคัญ ที่ต้องระบุลงในใบกำกับภาษี และ e-Tax Invoice

ไม่ว่าจะเป็นการออกใบกำกับภาษีในรูปแบบกระดาษ หรือแม้แต่การออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งสำคัญคือ ต้องมีข้อมูลทุกอย่างที่ละเอียดและชัดเจน ดังต่อไปนี้

• มีคำว่า “ใบกำกับภาษี” ที่เด่นและเห็นชัด ซึ่งเป็นข้อความที่กฎหมายบังคับใช้ ที่ต้องมีระบุเอาไว้ในใบกับกับภาษีทุกรายการ
• มีชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอาการ ของผู้ประกอบการที่ออกใบกำกับภาษี
• ชื่อและที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ
• หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี หรือหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
• ชื่อ ชนิด ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าและบริการ (ถ้าเป็นใบกำกับภาษีอย่างย่อ จะระบุว่าเป็นราคารวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
• จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่คำนวณมาจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการ โดยให้แยกจากมูลค่าของสินค้าอย่างชัดเจน
• วัน เดือน ปี ที่ได้ออกใบกำกับภาษี
• ข้อความอื่น ๆ ที่อธิบดีกำหนด

ข้อมูลสำคัญ ที่ต้องระบุลงในใบกำกับภาษี และ e-Tax Invoice

ผู้ประกอบการสามารถออกใบกำกับภาษี และ e-Tax Invoice ได้ตอนไหน?

1. การออกใบกำกับภาษี เมื่อมีการขายสินค้า

โดยการขายสินค้าจะมี 2 กรณี คือ การส่งมอบสินค้าสำหรับการขายแบบทั่ว ๆ ไป และการชำระค่าสินค้า ด้วยการรูปแบบเงินมัดจำก่อนส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า ซึ่งหลักเกณฑ์ในการออกใบกำกับภาษี คือ
• การออกใบกำกับภาษี เมื่อมีการส่งมอบสินค้า โดยจะใช้สำหรับการขายสินค้าทั่ว ๆ ไป
• การออกใบกำกับภาษี ในกรณีที่มีการรับชำระสินค้าก่อนการส่งมอบสินค้า โดยกรณีนี้จะเกิดจากการรับชำระสินค้าด้วยรูปแบบเงินมัดจำ ถึงแม้ยังไม่ได้ส่งมอบก็ตาม
• ออกใบกำกับภาษี เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้ก่อนส่งมอบสินค้า

2. การออกใบกำกับภาษี จากการให้บริการ

สำหรับการออกใบกำกับภาษี จะใช้เมื่อการให้บริการเสร็จสิ้น และได้รับการชำระเงิน จากลูกค้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งไหนเกิดขึ้นก่อน ซึ่งการออกใบกำกับภาษีจากการให้บริการ จะยึดตามจุดของการจ่ายเงินเป็นเกณฑ์ เพราะว่าการให้บริการ ไม่สามารถจับต้องได้เหมือนกับสินค้านั่นเอง

ทั้งนี้ หากท่านกำลังเผชิญปัญหาการจัดเตรียมเอกสารทางธุรกิจ หรือเอกสารทางบัญชี สามารถเลือกใช้บริการ SMEMOVE โปรแกรมบัญชีออนไลน์ ที่จะช่วยให้การสร้างเอกสารทางบัญชีกลายเป็นเรื่องง่าย ไม่ว่าจะเป็น การออกใบกำกับภาษี การทำใบเสนอราคา การทำใบแจ้งหนี้ ใบเสร็จรับเงิน และอื่น ๆ อีกมากมาย รวมถึงระบบการจัดการข้อมูลพนักงาน ที่ช่วยทำให้การทำงานของฝ่ายบุคคลนั้นง่ายมากขึ้น

ทดลองใช้ฟรีได้ที่ : SMEMOVE
คู่มือการใช้งาน : HELP

ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่

บทความบัญชี: smemove.com/blog

Facebook: Facebook.com/smemove.th

Youtube: SMEMOVE