อีกหนึ่งมาตรการสู้ Covid-19 ขยายเวลายื่นภาษีที่ทางคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตของไวรัส Covid-19 ไปได้ โดยมีจุดประสงค์คือการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการปิดกิจการแบบชั่วคราวจากคำสั่งของรัฐบาลตามมาตรการที่ออกมา เพื่อป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดน้อยลง โดยมีมาตรการดังนี้
1. ยืดระยะเวลาในการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563
เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาทุกคนทาง ครม. จึงมีมติให้ยืดระยะเวลาในการยื่นภาษีเพิ่มเติมจากเดิม ที่ได้กำหนดให้เลื่อนยืนได้ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เป็นวันที่ 31 สิงหาคม 2563 ทั้งการยื่นแบบกระดาษ และการยื่นแบบออนไลน์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
– การยื่นแบบกระดาษที่สำนักกรมสรรพากรในพื้นที่ ระยะเวลาการยื่นเดิม 1 มกราคม – 31 มีนาคม 263 เป็นระยะเวลาการยื่นภาษี 2562 (ยื่นต้นปี 2563 อัปเดทล่าสุด) 1 มกราคม – 31 สิงหาคม 263 แทน
– การยื่นภาษีออนไลน์ การยื่นเดิม 1 มกราคม – 8 เมษายน 263 เป็นระยะเวลาการยื่นภาษี 2562 (ยื่นต้นปี 2563 อัปเดทล่าสุด) 1 มกราคม – 31 สิงหาคม 263 แทน
ระยะเวลาในการผ่อนจ่ายภาษี
กำหนดผ่อนชำระภาษี | ระยะเวลาผ่อนจ่ายภาษีเดิม (ยื่นแบบกระดาษ) | ระยะเวลาผ่อนจ่ายภาษีเดิม (ยื่นออนไลน์) | ยื่นต้นปี 2563 อัปเดทล่าสุด |
งวดที่ 1 | 31 มี.ค. 2563 | 8 เม.ย. 2563 | 31 ส.ค. 2563 |
งวดที่ 2 | 30 เม.ย. 2563 | 8 พ.ค. 2563 | 30 ก.ย. 2563 |
งวดที่ 3 | 31 พ.ค. 2563 | 8 มิ.ย. 2563 | 31 ต.ค. 2563 |
*ในกรณีที่ผู้เสียภาษีมีสิทธิในการขอเงินคืนภาษีก็สามารถทำการขอคืนภาษีได้ทันที โดนไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดยื่นภาษีวันสุดท้ายแต่อย่างใด
2. เพิ่มสิทธิในการลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพ
จากเดิมผู้เสียภาษีสามารถใช้สิทธิในการลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพได้ 15,000 บาทต่อการยื่นเสียภาษี จะสามารถหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันได้เพิ่มมากขึ้นเป็น 25,000 บาท โดยจะมีผลย้อนหลังไปถึงเบี้ยประกันสุขภาพที่จ่ายไปตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 แต่ทั้งนี้การหักค่าลดหย่อนจะต้องไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อรวมค่าเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป และเงินฝากแบบมีประกันชีวิต
3. ค่าเสี่ยงภัยสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ได้รับการยกเว้นภาษี
เงินค่าเสี่ยงภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขนอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2563 จะได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ต้องนำเงินพิเศษเหล่านี้มาทำการคำนวณภาษีเพิ่ม ส่วนเงินเดือนก็ทำการยื่นภาษี และเสียภาษีตามปกติ ทั้งนี้สิทธิประโยชน์ในข้อนี้ไม่ได้จำกัดผู้รับผลประโยชน์เพียงแพทย์ และพยาบาลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคนิคการแพทย์ หรือแม้แต่คนขับรถพยาบาลก็ได้รับสิทธิการลดหย่อนนี้เช่นกัน
4. ขยายเวลาในการยื่นภาษีสำหรับนิติบุคคลทุกประเภท
อีกหนึ่งมาตรการทางภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องปิดกิจการ จากคำสั่งของรัฐบาลจะได้รับสิทธิในการเลื่อนจ่ายภาษี และชำระแบบภาษีทุกประเภทจากเดิมออกไป 1เดือน เช่นกำหนดเดิมจ่ายภาษีวันที่ 15 เมษายน เป็น 15 พฤษภาคม และสำหรับผู้ประกอบการอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบทางกระทรวงจะทำการพิจารณาเป็นรายกรณีไป
นอกจากนี้เพื่อเป็นการลดภาระทางภาษี และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่นิติบุคคลทางครม. จึงได้มีมติเห็นชอบขยายเวลาในการยื่นภาษีประจำปี ภ.ง.ด. 50 และภาษีครึ่งปี ภ.ง.ด. 51 ของบริษัทห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลดหลักทรัพย์ดังนี้
– ภ.ง.ด. 50 (ประจำปี) ที่ต้องยื่นภาษีในเดือน เม.ย.- ส.ค. 2563 (ส่วนใหญ่จะยื่นภายใน 29 พ.ค. 2563) จะขยายเวลาในการยื่น และชำระภาษีได้จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 63
– ภ.ง.ด. 51(ครึ่งปี) ที่ต้องยื่นภาษีในเดือน ก.ค. – ก.ย 2563 (ส่วนใหญ่จะยื่นภายใน 29 พ.ค. 2563) ให้สามารถยื่นได้จนถึง 30 มิ.ย. 63
5. ยกเว้นภาษี และค่าธรรมเนียมให้กลุ่ม Non-Bank สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้
ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีมาตรการยกเว้นภาษี และค่าธรรมเนียมสำหรับสถาบันการเงินสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไปแล้ว ครั้งนี้ทางรัฐบาลจะขยายสิทธิประโยชน์ให้กลุ่มเจ้าหนี้ Non-Bank ด้วยเช่นธุรกิจเช่าซื้อ ลิสซิ่ง บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ที่ก่อให้เกิดภาระทางภาษี หรือค่าธรรมเนียมใดๆ โดยจะได้รับการยกเว้นภาษี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์
ภายใต้เงื่อนไขผ่อนปรนเกณฑ์หนี้สูญแก่เจ้าหนี้ปรับปรุงโครงสร้างลูกหนี้ บัตรเครดิต, สินเชื่อส่วนบุคคล, เช่าซื้อ และลีสซิ่ง ลูกหนี้เจ้าอื่นที่ทำสัญญาประนอมหนี้ หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคาร โดยการปรับโครงสร้างหนี้ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย
และนี่ก็เป็นมาตรการภาษีที่ทางรัฐบาลได้ออกมารอบที่ 2 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางด้านการเงิน บรรเทาภาระทางภาษีแก่ผู้เสียภาษี ที่ผู้เข้าข่าย หรือประกอบการที่เกี่ยวข้องสามารถรับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีได้ทันที หากมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาก็สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ WWW.SMEMOVE.COM เช่นเดิมนะคะ
ติดตามบทความอื่นๆของ SMEMOVE.com ได้ที่
บทความบัญชี: smemove.com/blog
Facebook: Facebook.com/smemove.th
Youtube: SMEMOVE